แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คำว่า “ดูหมิ่น” ตาม ป.อ. มาตรา 393 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า หมายถึง ดูถูกเหยียดหยามทำให้อับอายเป็นที่เกลียดชังของประชาชน โดยถ้อยคำที่กล่าวจะต้องเป็นการเหยียดหยามผู้อื่น หาใช่ตัวผู้กล่าวเองไม่ คำว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” นั้น จำเลยมิได้เหยียดหยามตัวผู้เสียหายว่ามีสถานภาพอย่างขี้ข้าหรือผู้รับใช้ แต่เป็นการพูดถึงสถานภาพของครูในโรงเรียนรวมทั้งจำเลยว่าเป็นผู้รับใช้ของผู้เสียหาย เมื่อคำว่า “ขี้ข้า” ในที่นี้จำเลยหมายถึงตัวจำเลยเองและครูในโรงเรียนที่ถูกผู้เสียหายใช้งาน มิใช่หมายถึงตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ใช้งาน ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าตามความหมายใน ป.อ. มาตรา 393
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จำคุก 15 วัน ปรับ 900 บาท ตามทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 วัน และปรับ 600 บาท สำหรับโทษจำคุกนั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนักทั้งโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยก็เป็นโทษจำคุกระยะสั้นซึ่งน่าจะไม่เป็นผลดีแก่จำเลยหากจะให้รับโทษจำคุกเช่นนี้ เนื่องจากจำเลยเป็นครูทำหน้าที่สอนหนังสือให้แก่นักเรียน น่าที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติและสังคมโดยรวมได้ เพื่อให้โอกาสจำเลยจึงเห็นสมควรให้รอกการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีการประชุมกรรมการโรงเรียนหิรัญพงษ์อนุสรณ์ โดยมีนายพิชัย โชคดีวนิชวัฒนา ผู้เสียหาย ซึ่งประธานกรรมการศึกษาของโรงเรียนดังกล่าวเป็นประธานในการประชุม ส่วนจำเลยซึ่งเป็นอาจารย์ 1 ระดับ 4 รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ เป็นเลขานุการในการประชุมตามที่โจทก์ฎีกาว่า ในระหว่างการประชุมจำเลยพูดว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้าเวลานั่งคุยกันชอบเดินไปเดินมา ไม่มีความเหมาะสมเป็นผู้ใหญ่ ทำให้งานของครูนั้นไม่ดีเท่าที่ควร ให้ประธานลาออกไปจะได้เปลี่ยนประธานคนอื่นมาบริหาร” นั้น ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ครบถ้วนชัดแจ้งแล้วว่า นายไสว ทับทิม และนายเล็ก พวงต้น พยานโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการของโรงเรียนและนั่งอยู่ในที่ประชุมต่างเบิกความเกี่ยวกับคำพูดของจำเลยไม่ตรงกัน คงฟังได้แต่เพียงว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยพูดในที่ประชุม “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” เท่านั้น ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์ข้อวินิจฉัยดังกล่าวของศาลชั้นต้น ดังนั้น ประโยคที่ต่อจากคำว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” จะเป็นถ้อยคำที่ดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและไม่อาจฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาในส่วนนี้ของโจทก์ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์เพียงว่าคำกล่าวของจำเลยที่ว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คำว่า “ดูหมิ่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ไม่ได้นิยามศัพท์ไว้ว่ามีความหมายว่าอย่างไร แต่ตามพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตสถานอธิบายว่า หมายถึง ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอายเป็นที่เกลียดชังขอประชาชนโดยถ้อยคำที่กล่าวจะต้องเป็นการเหยียดหยามผู้อื่น หาใช่ตัวผู้กล่าวเองไม่ คำว่า “ประธานใช้ครูอย่างขี้ข้า” นั้น จำเลยมิได้เหยียดหยามตัวผู้เสียหายว่ามีสถานภาพอย่างขี้ข้าหรือผู้รับใช้ แต่เป็นการพูดถึงสถานภาพของครูในโรงเรียนรวมทั้งจำเลยว่าเป็นผู้รับใช้ของผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายเองก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายความจำเลยเกี่ยวกับสาเหตุที่มาจากคำกล่าวของจำเลยผู้เสียหายเคยขอร้องให้บรรดาครูในโรงเรียนรวมทั้งครูใหญ่ทำหลังคารถรับส่งนักเรียนและเคยให้จำเลยขับรถของตนเองไปรับส่งนักเรียน ซึ่งในวันเกิดเหตุ ที่ประชุมได้มีการพูดถึงสาเหตุที่ครูโรงเรียนโอนย้ายกันบ่อยๆ จึงน่าเชื่อว่า ข้อความที่จำเลยพูด เป็นการพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ตนเองและครูในโรงเรียนว่าถูกผู้เสียหายใช้งานเยี่ยงคงรับใช้ แม้จำเลยใช้คำว่า “ขี้ข้า” ซึ่งเป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพมากล่าวในที่ประชุม แต่เมื่อคำว่า “ขี้ข้า” ในที่นี้จำเลยหมายถึงตัวจำเลยเองและครูในโรงเรียนที่ถูกผู้เสียหายใช้งาน มิใช่หมายถึงตัวผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ใช้งาน ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงมิใช่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายซึ่งหน้าตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน