แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๐/๒๕๕๔
วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดแม่สอด
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดแม่สอดโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ นางทองหล่อ แสงตะคร้อ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ พันตำรวจโท ทรงวุฒิ จิตประสงค์พานิช ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดแม่สอด เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๘๑/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บฉ ๓๗๒๔ ตาก เช่าซื้อมาจากธนาคารทิสโก้ จำกัด ในราคา ๕๔๖,๙๑๒ บาท เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๒ จับกุมนางสุพรทิพย์ เรือนแก้ว กับพวกในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พร้อมยึดรถยนต์คันดังกล่าวเป็นของกลาง ต่อมารถยนต์ของกลางได้หายไปในระหว่างที่ถูกยึด ถือเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๕๔๖,๙๑๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลมีคำสั่งรับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๑ ไม่รับฟ้องจำเลยที่ ๒ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ สังกัดจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดตามที่โจทก์ฟ้องในการปฏิบัติหน้าที่ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยเก็บรักษารถยนต์คันพิพาทโดยสุจริต เช่นวิญญูชนพึงกระทำในการเก็บรักษาทรัพย์สินของตนและปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบ การกระทำของจำเลยจึงไม่ได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทอันเป็นเหตุให้รถยนต์คันพิพาทถูกลักไปจากที่เก็บรักษา แต่เป็นเพราะโจทก์มีส่วนรู้เห็นให้ใช้กุญแจสำรองของรถยนต์คันพิพาทลักลอบนำรถยนต์ไป จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การเก็บรักษาของกลางเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามที่กำหนดไว้ในระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ ๑๕ การฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือสูญหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดแม่สอดพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดรถยนต์ไว้เป็นของกลางในคดีอาญา เป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แล้วรถยนต์ของกลางได้สูญหายไป แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่จำเลยที่ ๑ จะมีความรับผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ ๒ ละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ จึงเป็นส่วนสำคัญ และเหตุละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์มิได้เป็นผลโดยตรงจากการใช้อำนาจทางกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินงานของรัฐทุกระบบต้องถูกตรวจโดยศาลได้ เว้นแต่เป็นเรื่องที่ศาลไม่อาจตรวจสอบได้โดยสภาพ ส่วนการที่จะพิจารณาว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีประเภทใดได้ต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง สำหรับคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง นอกจากข้อยกเว้นตามมาตรา ๙ วรรคสอง และเรื่องที่ศาลไม่อาจตรวจสอบได้โดยสภาพแล้ว ยังมีคดีประเภทอื่นที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของ ศาลอื่น เช่น คดีแพ่ง หรือคดีอาญา เป็นต้น ดังนั้น แม้ศาลปกครองจะไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน หากเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจกระทำการในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายอื่นที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำผู้กระทำผิดทางอาญามาลงโทษ หรือเนื่องมาจากการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำผู้กระทำผิดทางอาญามาลงโทษกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ทั้งนี้ เพราะการพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทดังกล่าวรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมก็ตาม แต่โดยที่ในขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นอาจมีการกระทำทางปกครองปะปนอยู่ด้วยซึ่งกรณีเช่นว่านี้ คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเคยมีคำวินิจฉัยที่ ๑๙/๒๕๔๕ วินิจฉัยว่า หากการกระทำใดที่กระทำนอกเหนือหรือมิได้กระทำตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น ซึ่งกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานที่จะนำไปสู่การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษทางอาญา เช่น การจับกุม การสอบสวน การมีความเห็นในคดี และการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลยุติธรรม และเป็นการกระทำที่เข้าเกณฑ์กรณีพิพาทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้กำหนดวิธีการเก็บรักษาทรัพย์ของกลางไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งกรณีการเก็บรักษารถของกลาง เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องปฏิบัติตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ในลักษณะ ๑๕ ของกลางและของส่วนตัวผู้ต้องหา บทที่ ๙ การปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจากประมวลระเบียบการตำรวจที่จัดทำขึ้นตามข้อบังคับที่ ๑/๒๕๙๘ (ที่ถูกน่าจะเป็น ๑/๒๔๙๘) เรื่อง วางระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์) สั่งให้ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๙๘ (ที่ถูกน่าจะเป็น ๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) โดยประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีดังกล่าวกำหนดผู้มีหน้าที่เก็บรักษารถของกลาง สถานที่เก็บรักษารถของกลาง วิธีการเก็บรักษารถของกลาง ดังนั้น การเก็บรักษาของกลางของเจ้าพนักงานตำรวจตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีจึงไม่ใช่ขั้นตอนการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนด เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดอาญามาลงโทษ อีกทั้งคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้เคยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓/๒๕๕๑ และที่ ๒๖/๒๕๕๑ วินิจฉัยว่า กรณีที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องโดยมิได้ขอริบทรัพย์ของกลาง เมื่อโจทก์ไปขอรับทรัพย์ของกลางคืนแต่เจ้าหน้าที่ของจำเลย (กรมป่าไม้) ไม่ยอมคืนให้ กรณีเช่นนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ซึ่งเป็นการวางแนวคำวินิจฉัยว่า ข้อพิพาทที่เกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการยึดสิ่งของต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีอาญา ตามมาตรา ๘๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาถือเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญาอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่ข้อพิพาทที่เกิดจากการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งของที่ยึดไว้ภายหลังจากนั้นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของคดีอาญาเป็นการใช้อำนาจของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามระเบียบ ข้อบังคับที่หน่วยงานทางปกครองได้จัดให้มีขึ้นอันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด หรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร แล้วแต่กรณี ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องปรากฏว่า หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ ๒ ได้จับกุมบุคคลผู้มีชื่อจำนวน ๓ คน ในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ ๑ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และยึดรถยนต์ซึ่งโจทก์เป็นผู้ครอบครองไว้เป็นของกลางในคดีดังกล่าวไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ ๒ เพื่อขอรับรถยนต์คันดังกล่าวเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ชั่วคราวในระหว่างที่จำเลยที่ ๒ ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา แต่จำเลยที่ ๒ แจ้งโจทก์ว่ารถยนต์ซึ่งจำเลยที่ ๒ ยึดไว้เป็นของกลางในคดีได้สูญหายไป โจทก์เห็นว่า จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลางเหมือนเช่นวิญญูชนพึงต้องดูแลทรัพย์สินของตน เมื่อจำเลยที่ ๒ ไม่ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทหายไปทั้งคัน จึงถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคารถยนต์พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จากคำฟ้องของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของพนักงานสอบสวนที่ยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้เป็นของกลางในคดีอาญาเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหา แต่เป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เก็บรักษาของกลางที่ยึดไว้ กระทำละเมิดโดยไม่ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางของโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทหายไปทั้งคัน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล โดยมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ ๒ สังกัด และจำเลยที่ ๒ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยที่ ๒ ไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษารถยนต์ของกลาง เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ ตามโจทก์กล่าวหา เกิดจากการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาของกลางตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีในลักษณะ ๑๕ ของกลางและของส่วนตัวผู้ต้องหา บทที่ ๙ การปฏิบัติเกี่ยวกับรถของกลาง อันเป็นการกระทำทางปกครอง คดีนี้จึงมิใช่ข้อพิพาทจากการกระทำละเมิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ จับกุมผู้มีชื่อกับพวกในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พร้อมยึดรถยนต์กระบะที่โจทก์เป็นผู้เช่าซื้อไว้เป็นของกลาง ต่อมารถยนต์ของกลางดังกล่าวได้หายไปในระหว่างที่ถูกยึด เป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่ารถพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยเก็บรักษาทรัพย์ของกลางถูกต้องตามระเบียบ เหตุที่รถยนต์คันพิพาทสูญหายเพราะโจทก์มีส่วนรู้เห็นให้ใช้กุญแจสำรอง จำเลยจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินจริง เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ วรรคสาม บัญญัติว่า สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น และมาตรา ๘๕/๑ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในระหว่างสอบสวน สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ซึ่งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี เจ้าของหรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้อาจยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษา หรือใช้ประโยชน์โดยไม่มีหลักประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้ วรรคสอง บัญญัติว่า การสั่งคืนสิ่งของตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่กระทบถึงการใช้สิ่งของนั้นเป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง ทั้งนี้ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งโดยมิชักช้า โดยอาจเรียกประกันจากผู้ยื่นคำร้องหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลนั้นปฏิบัติ และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือบุคคลดังกล่าวไม่ยอมคืนสิ่งของนั้นเมื่อมีคำสั่งให้คืน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี มีอำนาจยึดสิ่งของนั้นกลับคืนและบังคับตามสัญญาประกันเช่นว่านั้นได้ วิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาตให้เป็นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และวรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาตและให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต ศาลอาจเรียกประกันหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุมผู้กระทำความผิดพร้อมกับยึดรถยนต์ของโจทก์ จึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๕ ซึ่งในมาตรา ๘๕/๑ ก็กำหนดวิธีการไว้ว่า ทรัพย์ที่ถูกยึดไว้ถ้ายังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี เจ้าของหรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้อาจร้องขอต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการให้คืนทรัพย์ของกลางแก่ตนได้ และในวรรคท้าย หากเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ยอมคืนให้ เจ้าของทรัพย์ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงาน “ต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้” กรณีจึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ทั้งได้กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในเรื่องนั้น ๆ เป็นศาลที่มีเขตอำนาจด้วย จึงเป็นคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเนื่องจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางทองหล่อ แสงตะคร้อ โจทก์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๑ พันตำรวจโท ทรงวุฒิ จิตประสงค์พานิช ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ