คำวินิจฉัยที่ 54/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๔/๒๕๕๔

วันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดภูเก็ต
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดภูเก็ตส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ยื่นฟ้อง นายสมปอง สกุลทับ ที่ ๑ นายสุรศักดิ์ มณีศรี ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดภูเก็ตเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๖๓/๒๕๕๑ ความว่า เดิมที่ดินริมทะเล ถนนหมื่นเงิน (หาดไตรตรัง) ตำแหน่งที่ดินระวาง/กลุ่ม ๔๕๗ เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิดต่อมากรมป่าไม้ได้ส่งมอบที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเสื่อมโทรม (โซนอี) ให้โจทก์ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินและรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา ป่าเทือกเขานาคเกิดและป่าเขาสามเหลี่ยม เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลเกาะแก้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นเขตปฎิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๓๗ อันมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงดังกล่าวและให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินบริเวณถนนหมื่นเงิน (หาดไตรตรัง) ที่ดินโครงการปฏิรูปที่ดินป่าเทือกเขานาคเกิด ตำแหน่งที่ดินระวาง/กลุ่ม ๔๕๗ แปลงเลขที่ ๑ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ ๒๖ ไร่ ๐ งาน ๗๐ ตารางวา ด้วยการก่นสร้าง แผ้วถางป่า ทำการก่อสร้างอาคารรั้วหรือกำแพงคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ป้ายบอกชื่อโรงแรมและร้านอาหาร โดยทำเป็นที่อยู่อาศัย ร้านอาหารและโรงแรมในที่ดินของโจทก์ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองและบริวารทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทำให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิมและออกจากที่ดินของโจทก์ภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือ ต่อมาจำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งโจทก์ โจทก์จึงรายงานความคิดเห็นพร้อมเหตุผลเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองทราบ จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งดังกล่าวแล้ว แต่ยังคงเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างทำที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมและออกจากที่ดินของโจทก์จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ ไม่เคยบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินในโครงการปฏิรูปที่ดินป่าเทือกเขานาคเกิด แต่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายโดยได้รับสิทธิการครอบครองมาจากนายนอง สกุลทับ และนายชูวิทย์ สกุลทับ โดยนายนองได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินเต็มพื้นที่ตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ และได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์จากคณะอนุกรรมการป่าสงวนแห่งชาติเป็นเนื้อที่๒๑ ไร่ ๕๐ ตารางวา และได้ครอบครองที่ดินตาม ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ๓ งาน ๖ ตารางวา รวมเนื้อที่ครอบครอง ๒๘ ไร่เศษ แต่เมื่อรังวัดแล้วปรากฏว่ามีเพียง ๒๖ ไร่เศษ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ เมื่อนายนองถึงแก่ความตายนายชูวิทย์และจำเลยที่ ๑ ได้ร่วมกันครอบครองมาถึงปัจจุบันโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิ ส่วนจำเลยที่ ๒ซึ่งทำสัญญาเช่าจากจำเลยที่ ๑ และได้รับสิทธิครอบครองมาจากจำเลยที่ ๑ จึงได้รับสิทธิครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เมื่อปี ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอออกส.ป.ก. ๔ – ๐๑ ต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ต แต่ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด จำเลยที่ ๑ จึงขอยกเลิกการขอออกส.ป.ก. ๔ – ๐๑ เนื่องจากจำเลยที่ ๑ไม่มีคุณสมบัติที่จะได้รับ และไม่ได้รับความยินยอมจากนายชูวิทย์ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองร่วม และที่ดินที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองอยู่ในแนวเขตปฏิรูปที่ดินเพียงไม่กี่ตารางวา โจทก์ไม่มีอำนาจอ้างสิทธิใดๆ ในที่ดินของจำเลยทั้งสองที่ได้ถือครองอย่างถูกต้องตามกฎหมายนอกจากนี้การพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งแจ้งให้จำเลยทั้งสองยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวัน จำเลยทั้งสองได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๐/๒๕๕๐ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จำเลยทั้งสองยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๐/๒๕๕๐ ซึ่งเป็นคดีที่มีมูลคดีเดียวกันและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดภูเก็ต จึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีแต่อย่างใด โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และจำเลยทั้งสองให้การว่าตนมีสิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ประเด็นพิพาทแห่งคดีนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิครอบครองหรือการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคดีที่จำเลยทั้งสองฟ้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชเป็นคดีเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงมีประเด็นข้อพิพาทต่างกันกับคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องและมีความเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลจังหวัดภูเก็ตพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิครอบครองจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดิน มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ ๒๕๔๒ มาตรา ๙ คดีพิพาทนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนการที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า จำเลยทั้งสองได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้นั้น เป็นการโต้แย้งในเรื่องอำนาจฟ้องคดีนี้เท่านั้นมิได้ทำให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดภูเก็ต
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โจทก์จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนจำเลยทั้งสองเป็นเอกชน คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานราชการกับเอกชน อันเป็นองค์ประกอบประการแรกของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขากมลาป่าเทือกเขานาคเกิด และป่าเขาสามเหลี่ยม ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ต่อมาโจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินบริเวณถนนหมื่นเงิน (หาดไตรตรัง) ซึ่งเป็นที่ดินตามโครงการปฏิรูปที่ดินป่าเทือกเขานาคเกิดด้วยการก่นสร้าง แผ้วถางป่า แล้วทำการก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างอื่นโดยทำเป็นที่อยู่อาศัยร้านอาหารและโรงแรม โจทก์จึงได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและทำที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมและให้ออกจากที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองได้ยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ในสังกัดโจทก์ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองทราบผลการวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วไม่พอใจคำวินิจฉัย จึงฟ้องสำนักการปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตที่ ๑ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดภูเก็ตที่ ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตที่ ๓ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราชในคดีหมายเลขดำที่ ๔๐/๒๕๕๐ ให้เพิกถอนคำสั่งของโจทก์ที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งในขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองนครศรีธรรมราชโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ในคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๓/๒๕๕๑ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างทำที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมและให้ออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากการที่โจทก์ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะแล้วเกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทซึ่งมีเหตุแห่งการฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องจากการดำเนินกิจการทางปกครองของโจทก์ อันเป็นองค์ประกอบประการที่สองของคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทที่มีลักษณะครบองค์ประกอบของคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองประกอบกับคดีหมายเลขดำที่ ๔๐/๒๕๕๐ ของศาลปกครองนครศรีธรรมราช และคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๓/๒๕๕๑ของศาลจังหวัดภูเก็ตเป็นคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกัน และคำขอที่ขอให้ศาลพิพากษาและออกคำบังคับมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน การให้คดีทั้งสองสำนวนพิจารณาโดยศาลต่างกันผลของคำพิพากษาทั้งสองศาลอาจขัดแย้งกันจนเป็นเหตุให้คู่ความไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ คดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวควรได้รับการพิจารณาในศาลเดียวกัน เมื่อคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวมีลักษณะเป็นคดีปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองซึ่งในกรณีนี้ได้แก่ศาลปกครองนครศรีธรรมราช ซึ่งหากศาลปกครองนครศรีธรรมราชรับข้อพิพาทในคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๓/๒๕๕๑ ไว้พิจารณารวมกับคดีหมายเลขดำที่ ๔๐/๒๕๕๐ ศาลปกครองนครศรีธรรมราชสามารถออกคำบังคับให้จำเลยทั้งสองออกจากที่พิพาทตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๕) พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองยื่นฟ้องเอกชน ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินริมทะเลถนนหมื่นเงิน (หาดไตรตรัง) ซึ่งเป็นที่ดินที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานาคเกิด ต่อมากรมป่าไม้ได้ส่งมอบที่ดินซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเสื่อมโทรม (โซนอี) ให้โจทก์ไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินและรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขากมลา ป่าเทือกเขานาคเกิดและป่าเขาสามเหลี่ยมเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลเชิงทะเล ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง ตำบลกมลา ตำบลกะทู้ ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ และตำบลเกาะแก้ว ตำบลรัษฎา ตำบลวิชิต ตำบลกะรน ตำบลฉลอง ตำบลราไวย์ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นเขตปฎิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๓๗ แต่จำเลยทั้งสองสร้างอาคารร้านอาหารและโรงแรมบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินของโจทก์ โดยทำเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองและบริวารทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทำให้ที่ดินกลับสู่สภาพเดิมและออกจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองทราบ แต่จำเลยซึ่งได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วยังคงเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างทำที่ดินให้กลับสู่สภาพเดิมและออกจากที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสองให้การโดยสรุปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๑ ไม่เคยบุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทแต่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ซึ่งทำสัญญาเช่าจากจำเลยที่ ๑ และได้รับสิทธิครอบครองมาจากจำเลยที่ ๑ จึงได้รับสิทธิครอบครองที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย การพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้นจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินแปลงพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป ดังนั้นจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ นายสมปอง สกุลทับ ที่ ๑ นายสุรศักดิ์ มณีศรี ที่ ๒ จำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share