แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๑/๒๕๕๔
วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๐ บริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดินที่ ๑ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๕๖/๒๕๕๐ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ถือสิทธิครอบครองร่วมกับนางพรรณี จันทร์เพ็ญ ในที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๒๙ ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๗๕ ตารางวา โดยผู้ฟ้องคดี ถือสิทธิครอบครองในอัตราส่วน ๑,๔๑๕ ส่วนใน ๑,๕๗๕ ส่วน หรือคิดเป็นเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๑๕ ตารางวา เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งที่ ๑๗๖๑/๒๕๕๐ ให้เพิกถอน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ดังกล่าว อ้างว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใบจองได้ออกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๙ อันเป็นที่ดินที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจัดให้ประชาชนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ. ๒๔๙๘ หมวด ๒ ข้อ ๓ (๑) และเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยที่ ๒ พิจารณาแล้วเห็นว่าคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. ๓ ดังกล่าวชอบแล้ว ให้ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ก่อนการออกใบจองและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยละเอียด และเป็นเอกสารที่รัฐออกให้ซึ่งเป็นเอกสารมหาชน ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเอกสารแท้จริงและถูกต้อง และการออกใบจองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและ น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ไม่ปรากฏว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าไม้ถาวร และไม่มีสภาพเป็นป่าอันจะถือได้ว่า เป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าไม้ถาวรตามกฎหมาย รวมทั้งมีทางหลวงแผ่นดินตัดผ่านและอยู่ในย่านชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่หนาแน่น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ราษฎรได้เข้าครอบครองทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ก่อนการกำหนดเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าไม้ถาวร ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๑๗๖๑/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ระหว่างการรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีและนางพรรณี สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งจากสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ๑๗ (แม่สะเรียง) พบว่า น.ส. ๓ ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย” และเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า ใบจองเลขที่ ๒๒๙ ได้ออกในที่ดินที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจัดให้ประชาชน และเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ที่ออกสืบเนื่องมาจากใบจองเลขที่ ๒๒๙ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่กระทำโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีมีประเด็นว่า ที่ดินตาม น.ส. ๓ ที่พิพาทเป็นสิทธิครอบครองของผู้ฟ้องคดีหรืออยู่ในเขตป่าไม้ถาวรหรือป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลซึ่งต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน และประมวลกฎหมายที่ดิน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยทั่วไป เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ในขณะที่ศาลปกครองเป็น ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง รวมถึงคดีพิพาทตามที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองด้วย เว้นแต่เรื่องที่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ ๑๗๖๑/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๐ เพิกถอน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับนางพรรณี และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้วินิจฉัยยกคำอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องมาจากเห็นว่า น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ เป็น น.ส. ๓ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกมาจากหลักฐานใบจองเลขที่ ๒๒๙ ซึ่งออกในที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจัดให้ประชาชนตามหมวด ๒ ข้อ ๓ (๑) แห่งระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชน พ.ศ. ๒๔๙๘ และเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) แต่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าที่ดินดังกล่าวไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีและเป็นที่ดินที่ได้มีการเข้าครอบครองทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับก่อนการกำหนดเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าไม้ถาวร อีกทั้งที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่นำมาจัดให้แก่ประชาชนได้ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการปฏิบัติราชการที่กระทำโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า การออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งการออกคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลทำให้สิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่มีอยู่ตามหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ระงับไป จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ อีกทั้งในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวมีปัญหาเบื้องต้นที่จะต้องพิจารณาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่นำมาจัดให้ประชาชนได้หรือไม่ และเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ อันเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการที่เอกชนจะได้รับสิทธิในที่ดินของรัฐซึ่งเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน มิใช่เป็นเรื่องการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชน คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้ มิได้มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลปกครองนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินในส่วนที่เกี่ยวกับการให้เอกชนได้สิทธิในที่ดินของรัฐมาวินิจฉัยแต่อย่างใด ดังนั้นคดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอนพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฏหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัตินี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ และการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน และแม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ โดยอ้างว่าเป็น น.ส. ๓ ที่ออกมาโดยอาศัยหลักฐานใบจองที่ออกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๙ ของผู้ฟ้องคดี ก็ตาม แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว หรือเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาในปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๙/๒๕๔๘
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ถือสิทธิครอบครองร่วมกับผู้มีชื่อในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามส่วนที่ตกลงกัน แต่ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนอ้างว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากใบจองได้ออกในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจัดให้ประชาชนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ และเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ตามนัยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๙๗) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่ง จำเลยที่ ๒ ยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ก่อนการออกใบจองและหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบโดยละเอียด และเป็นเอกสารที่รัฐออกให้ซึ่งเป็นเอกสารมหาชน ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นเอกสารแท้จริงและถูกต้อง และการออกใบจองในที่ดินของผู้ฟ้องคดีและ น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ไม่ปรากฏว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าไม้ถาวร และไม่มีสภาพเป็นป่าอันจะถือได้ว่าเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือเขตป่าไม้ถาวรตามกฎหมาย รวมทั้งมีทางหลวงแผ่นดินตัดผ่านและอยู่ในย่านชุมชนที่มีผู้อาศัยอยู่หนาแน่น ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ราษฎรได้เข้าครอบครองทำประโยชน์มาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ก่อนการกำหนดเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าไม้ถาวร ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ขณะรังวัดแบ่งกรรมสิทธิ์รวม สำนักงานที่ดินจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ตรวจสอบพบว่า น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าแม่ปายฝั่งซ้าย” และเขตป่าไม้ถาวร คณะกรรมการสอบสวนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่งตั้งมีความเห็นว่า ใบจองเลขที่ ๒๒๙ ได้ออกในที่ดินที่ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาจัดให้ประชาชน และเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ ที่ออกสืบเนื่องมาจากใบจองเลขที่ ๒๒๙ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ เลขที่ ๒๒๙ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่กระทำโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตป่าไม้ถาวรเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ