แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์ของจำเลยที่ 1เป็นการใส่ชื่อไว้เฉย ๆ โดยไม่มีการซื้อขายและส่งมอบรถยนต์ให้แก่กัน จำเลยที่ 2 ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์นั้นอยู่ การมีชื่อในทะเบียนรถยนต์มิใช่ข้อชี้ว่า ผู้มีชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นหรือเป็นผู้ได้รับโอนรถยนต์มาเป็นของตนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โอนรถยนต์ตามคำร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 เพียงมีชื่อเป็นผู้รับโอน และผู้โอนในเอกสารแบบเรื่องราวขอโอนและรับโอนเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนรถยนต์มาจากจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ล้มละลายศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2528 อันเป็นระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ได้โอนรถคันดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ไม่มีค่าตอบแทน ในช่วงที่จำเลยที่ 1 มีหนี้สินมากมาย เป็นการฉ้อฉลและไม่สุจริตเพื่อเจตนาที่จะให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้และทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับโอนอีกช่วงหนึ่งโดยรับซื้อไว้ในราคาถูกเพียง100,000 บาท ทั้งรู้ดีว่า จำเลยที่ 1 มีหนี้สินมากมายและมีเจตนาที่จะโอนรถคันดังกล่าวเพื่อให้พ้นจากการบังคับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอน
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า การโอนรถคันดังกล่าวเป็นการโอนทางทะเบียนมาเป็นชื่อของผู้คัดค้านที่ 1 เท่านั้น ส่วนกรรมสิทธิ์และอำนาจการจำหน่ายจ่ายโอนหรือใช้ประโยชน์ในรถยังเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนรถคันดังกล่าวมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1 และให้ผู้คัดค้านที่ 1ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวแก่ผู้ร้อง หากส่งมอบไม่ได้ให้ใช้เงิน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ผู้คัดค้านที่ 1 เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง ส่วนค่าทนายความนั้นผู้ร้องว่าคดีเองจึงไม่กำหนดให้ ให้ยกคำร้องส่วนที่ขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และให้ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 2 ต่างฝ่ายต่างเป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนที่ขอให้เพิกถอนการโอนรถยนต์ระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1 เสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามคำร้องและทางนำสืบของผู้ร้องฟังได้ว่า การใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์ของจำเลยที่ 1 เป็นการใส่ชื่อไว้เฉย ๆ โดยไม่มีการซื้อขายและส่งมอบรถยนต์ให้แก่กัน จำเลยที่ 2 ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์นั้นอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงได้นำเอกสารหมาย ร.2 และ ร.3 ซึ่งเป็นแบบพิมพ์การขอโอนและรับโอนของกรมการขนส่งทางบกซึ่งยังมิได้กรอกข้อความมาให้ผู้คัดค้านที่ 1 ลงชื่อ เป็นการโอนลอยเพื่อให้ผู้ซื้อจากจำเลยที่ 1 นำไปดำเนินการโอนทางทะเบียนได้ ซึ่งฟังได้เจือสมกันกับคำเบิกความของผู้คัดค้านทั้งสองว่า การโอนจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการเองทั้งสิ้น ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้เกี่ยวข้องด้วยและเมื่อข้อความตามแบบเรื่องราวขอโอนและรับโอนเอกสารหมายร.2 มิได้มีอยู่ในขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้รับโอนทั้งมีชื่อจำเลยที่ 2 วงเล็บไว้ใต้ชื่อในช่องผู้โอนและผู้รับโอนโดยมิได้วงเล็บชื่อผู้คัดค้านที่ 1 ไว้เหมือนกับที่มีปรากฏในแบบเรื่องราวขอโอนและรับโอนตามเอกสารหมาย ร.3 อันแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิใช่เป็นผู้รับโอนจากจำเลยที่ 1 โดยแท้จริงการมีชื่อในทะเบียนรถยนต์มิใช่เป็นข้อชี้ว่าผู้มีชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นหรือเป็นผู้ได้รับโอนรถยนต์มาเป็นของตนแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ยืนยันว่าซื้อขายกับจำเลยที่ 2 ไม่รู้จักผู้คัดค้านที่ 1 และชำระราคาให้จำเลยที่ 2 เป็นเช็คตามเอกสารหมาย ค.1 ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 2 รับแล้วก็นำไปเข้าบัญชีของตัวเองเพื่อเรียกเก็บเงิน พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้โอนรถยนต์ตามคำร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 แต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 1 เพียงมีชื่อเป็นผู้รับโอนและผู้โอนในเอกสารแบบเรื่องราวขอโอนและรับโอนตามเอกสารหมาย ร.2 และ ร.3 เท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนรถยนต์มาจากจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่มีการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1ที่จะเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114
พิพากษายืน