คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1058/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำฟ้องของโจทก์นอกจากขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 อันเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แล้ว ยังขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทในราคาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์อีกด้วยคดีตามคำขอส่วนนี้อาจมีผลให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้ถือได้ว่าคำขอส่วนแรกเป็นคำขอหลัก คำขอส่วนหลังเป็นคำขอต่อเนื่อง แต่ก็มีผลเพียงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในการอุทธรณ์ฎีกาโดยไม่จำต้องพิจารณาถึงราคาทรัพย์สินพิพาทเท่านั้น ไม่มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิชำระค่าขึ้นศาลแบบคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
แม้การประทับตราในคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลเพิ่มที่กำหนดวันให้โจทก์มาทราบคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการกระทำโดยเจ้าพนักงานศาลมิใช่การกระทำของศาล แต่โจทก์ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ใต้ตราประทับเป็นการยืนยันต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์จะไปทราบคำสั่งในวันดังกล่าวเอง ทั้งตราประทับยังมีข้อความด้วยว่า ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องมีหมายแจ้งคำสั่งไปให้โจทก์ทราบอีก โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลเกินกำหนดดังกล่าว และในคำร้องมิได้ระบุถึงเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องภายในกำหนด จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่ามีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยอันควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาหรือไม่
การอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรว่าจะอนุญาตกี่ครั้งหรือเป็นเวลานานเพียงใดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่าอนุญาตอีกเพียงครั้งเดียว จึงไม่เป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าที่ดินจากจำเลยที่ 1 และที่ 2มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขายที่ดินก่อนครบกำหนดตามสัญญาเช่า ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจะขายในราคาเท่าใด เพื่อโจทก์จะมีโอกาสตกลงซื้อได้ก่อน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบก่อน ขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นโมฆะให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว กับขอให้มีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสามได้ในราคาที่จำเลยที่ 3 ซื้อจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยทั้งสามโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ขอให้มีคำสั่งให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายต่อไป

จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์นำที่ดินไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง เป็นการผิดสัญญาเช่า สัญญาเช่าจึงเป็นอันระงับไปแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 แจ้งเรื่องจะขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ให้โจทก์ทราบก่อนขายโจทก์ไม่ซื้อเองจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริต พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาเสร็จ ส่งคำพิพากษาไปให้ศาลชั้นต้นอ่านโดยมีรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์2542 แนบไปด้วยว่าคดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลล่างทั้งสองอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ ฉะนั้น ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตีราคาที่ดินพิพาท และให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลในศาลล่างทั้งสองให้ครบภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด หากไม่ชำระให้ส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาคืนศาลอุทธรณ์

ศาลชั้นต้นนัดพร้อม คู่ความตกลงกันว่า ที่ดินพิพาทมีราคา 800,000บาท ซึ่งเท่ากับราคาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นให้โจทก์ชำระค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันมีคำสั่ง หลังจากนั้นโจทก์ขอขยายระยะเวลาชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มรวม 3 ครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ส่วนครั้งที่ 3 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 7 กันยายน2542 ขอขยายระยะเวลาชำระค่าขึ้นศาลทั้งสองศาลเพิ่มอีก 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตครั้งก่อน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ยื่นเกินกำหนด ทั้งมีการขยายระยะเวลาวางเงินให้หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลชั้นต้นสั่งว่าอนุญาตอีกเพียงครั้งเดียวแต่โจทก์ก็มาขอขยายระยะเวลาอีก กรณีไม่มีเหตุอนุญาตตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ และเมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในกำหนดจึงให้ส่งสำนวนพร้อมคำพิพากษาคืนศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป

โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงิน

ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งทิ้งฟ้อง และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายเวลาวางเงิน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อ 2.4 ก่อนว่า โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2กับจำเลยที่ 3 เนื่องจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีข้อตกลงกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทก่อนบุคคลอื่น การฟ้องในกรณีเช่นนี้มิได้มีผลให้ที่ดินตกเป็นของโจทก์ทันที คงตกเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2ดังเดิมเท่านั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ไม่จำต้องเสียค่าขึ้นศาลเพิ่มนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ นอกจากมีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 อันเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แล้ว ยังมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทในราคาที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ขายให้แก่จำเลยที่ 3 และให้จำเลยทั้งสาม(ที่ถูก จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2) ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์อีกด้วยคดีตามคำขอส่วนนี้อาจมีผลให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้ถือได้ว่าคำขอส่วนแรกที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเป็นคำขอหลัก คำขอส่วนหลังที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์แก่โจทก์เป็นคำขอต่อเนื่อง แต่ก็มีผลเพียงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในการอุทธรณ์ฎีกาคดีนี้โดยไม่จำต้องพิจารณาถึงราคาทรัพย์สินพิพาทเท่านั้นหาได้มีผลถึงกับทำให้โจทก์มีสิทธิชำระค่าขึ้นศาลในคดีนี้แบบคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้แต่ประการใดไม่ ทั้งนี้เนื่องจากตามตาราง 1(3) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในคดีที่มีทั้งคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย ให้คิดค่าขึ้นศาลตามอัตราใน(1) แต่ไม่ให้น้อยกว่าอัตราใน (2)(ก) หรือ (2)(ข) แล้วแต่กรณี กล่าวคือต้องเสียค่าขึ้นศาลตามราคาทรัพย์พิพาทในอัตราสองบาทห้าสิบสตางค์ต่อทุกหนึ่งร้อยบาท แต่ไม่ให้น้อยกว่าสองร้อยบาท ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามโจทก์ฎีกาข้อ 2.1 และข้อ 2.3 ว่าการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ 7กันยายน 2542 เป็นการยื่นเกินกำหนดหรือไม่ และกรณีมีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า แม้ในวันที่ 6 สิงหาคม 2542 อันเป็นวันที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมครั้งก่อน เจ้าพนักงานศาลชั้นต้นจะได้ประทับตราที่มีข้อความให้โจทก์มาทราบคำสั่งศาลชั้นต้นวันที่ 13 สิงหาคม 2542 ไว้ที่ด้านข้างคำร้อง แล้วให้โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ก็ตาม แต่เจ้าพนักงานศาลชั้นต้นกระทำไปโดยพลการ มิใช่โดยคำสั่งของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีหมายแจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบเมื่อศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการดังกล่าวจะถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งแล้วไม่ได้โจทก์ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ 7กันยายน 2542 ได้อีก และตามคำร้องฉบับดังกล่าวโจทก์กล่าวได้ด้วยว่าโจทก์กำลังดำเนินการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งขายให้แก่ผู้ซื้อ ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษ เห็นว่า แม้การประทับตรากำหนดวันให้โจทก์มาทราบคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการกระทำโดยเจ้าพนักงานศาล แต่โจทก์ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ใต้ตราประทับดังกล่าวเป็นการยืนยันต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์จะไปทราบคำสั่งในวันดังกล่าวเองทั้งตราประทับดังกล่าวยังมีข้อความด้วยว่าถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้วศาลชั้นต้นจึงไม่ต้องมีหมายแจ้งคำสั่งไปให้โจทก์ทราบอีก โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2542ตามคำสั่งศาลชั้นต้นกล่าวคือภายในวันที่ 5 กันยายน 2542 แต่วันดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์อันเป็นวันหยุดราชการ โจทก์ยังชำระค่าธรรมเนียมศาลได้จนถึงวันที่ 6 กันยายน 2542 หรือหากจะขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลอีก โจทก์ต้องยื่นคำร้องภายในวันดังกล่าว การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลในวันที่ 7 กันยายน2542 จึงเป็นการยื่นเกินกำหนด และเมื่อในคำร้องฉบับดังกล่าวโจทก์มิได้ระบุถึงเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องภายในกำหนด จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่า มีพฤติการณ์พิเศษหรือเหตุสุดวิสัยอันควรอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์ข้อ 2.2 ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องฉบับลงวันที่ 6 สิงหาคม 2542 ว่า อนุญาตอีกเพียงครั้งเดียวเป็นคำสั่งที่จำกัดสิทธิของโจทก์ เป็นคำสั่งที่มิชอบหรือไม่ เห็นว่า การอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรว่าจะอนุญาตกี่ครั้งหรือเป็นเวลานานเพียงใด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หาเป็นการจำกัดสิทธิของโจทก์ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใดไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกันคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว”

พิพากษายืน

Share