คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5510/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารภายหลังจากที่กฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่บริเวณที่ดินที่โจทก์ขออนุญาตก่อสร้างอาคารเป็นเขตพื้นที่สีเขียวอ่อนสิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว จึงไม่มีกฎหมายใด ๆ กำหนดว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวอ่อนซึ่งห้ามเจ้าของที่ดินก่อสร้างอาคาร ฉะนั้นเมื่อโจทก์ยื่นคำขออนุญาตโดยถูกต้อง จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารบนที่ดินของโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๕๘๕ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร หากจำเลยไม่อนุญาตให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๕๘๕ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีปกครองวินิจฉัยว่า… ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์บนที่ของโจทก์โฉนดเลขที่ ๒๐๕๘๕ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์ฎีกาว่า ที่ดินของโจทก์ที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ในขณะที่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตไม่มีบทกฎหมายใดห้ามก่อสร้างไว้ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะก่อสร้างอาคารได้ตามที่ขออนุญาต คำสั่งของจำเลยที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยแก้ฎีกาในปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่า บริเวณที่โจทก์ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้น อยู่ในเขตที่ได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๒) กำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวอ่อน ซึ่งเป็นที่ดินประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมื่อพิจารณากฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ที่กำหนดว่า “กฎกระทรวงนี้ให้มีอายุห้าปี” ซึ่งตามหนังสือที่กรมการผังเมืองมีถึงโจทก์ระบุว่ากฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๒) มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๓๒ ถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๗ และมีการประกาศใช้กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๖๙ (พ.ศ. ๒๕๓๗) และฉบับที่ ๒๑๑ (พ.ศ. ๒๕๓๘) ขยายอายุการใช้บังคับกฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ออกไปอีกฉบับละ ๑ ปี รวม ๒ ปี ซึ่งมีผลให้กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๒) มีผลใช้บังคับถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๓๙ โจทก์ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารบนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๕๘๕ เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ การยื่นคำขอของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการยื่นภายหลังจากที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๖๓ (พ.ศ. ๒๕๓๒) สิ้นผลบังคับใช้ไปแล้ว พื้นที่บริเวณที่ดินของโจทก์ที่ขออนุญาตก่อสร้างอาคารจึงไม่มีกฎหมายใด ๆ กำหนดว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวอ่อนซึ่งห้ามเจ้าของที่ดินก่อสร้างอาคาร หนังสือที่จำเลยแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารก็มิได้ระบุว่าที่ดินที่โจทก์ขออนุญาตก่อสร้างอาคารตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สีเขียวอ่อน คงอ้างแต่เพียงว่าไม่สามารถอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารได้ จะอนุญาตได้ต่อเมื่อมีกฎกระทรวงใหม่ประกาศว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในเขตพื้นที่ก่อสร้างอาคารได้เท่านั้น อันเป็นการยืนยันว่าในขณะที่โจทก์ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารจนกระทั่งจำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารตามที่โจทก์ขอ ไม่มีกฎหมายห้ามก่อสร้างอาคารบนที่ดินของโจทก์ ฉะนั้นโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยที่ดินของโจทก์ได้ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงชอบที่จะอนุญาตให้โจทก์ก่อสร้างอาคารบนที่ดินของโจทก์หากโจทก์ได้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารโดยถูกต้อง… ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share