คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5298/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่อนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงปทุมวันได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์ใช้โทรศัพท์แจ้งเรื่องการอนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลยเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเท่านั้น หาทำให้มูลคดีที่เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญาได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บรายเดือน อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนโดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2550)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 97,109.58 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 94,890.41 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลแขวงปทุมวัน เพราะมูลคดีเกิดที่ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งเป็นสถานที่ที่คำสนองการให้สินเชื่อของโจทก์ไปถึงจำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงพระนครเหนือหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ในการเสนอคำฟ้องนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า “คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” คำว่า “มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย ณ ที่ทำการของโจทก์เลขที่ 87/1 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้หนี้ให้แก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่อนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงปทุมวันได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์อนุมัติสินเชื่อบุคคลอันเป็นคำสนองกระทำโดยโจทก์ใช้โทรศัพท์แจ้งไปยังภูมิลำเนาของจำเลย ภูมิลำเนาของจำเลยจึงถือเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้อนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย ณ ที่ทำการของโจทก์แล้ว จำเลยก็สามารถรับเงินได้ การที่โจทก์ใช้โทรศัพท์แจ้งเรื่องการอนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลยเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเท่านั้น หาทำให้มูลคดีที่เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปมีว่า สัญญาให้สินเชื่อส่วนบุคคลมีข้อกำหนดและเงื่อนไขไม่เป็นธรรม อันเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญาได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บรายเดือนรวมเป็นเงิน 22,446 บาท หรือเท่ากับอัตราร้อยละ 14.96 ต่อปี อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนโดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 14.96 ต่อปี ดังกล่าวจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) จะเป็นอัตราร้อยละ 26.83 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 94,890.41 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันผิดนัดนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินคืนแก่โจทก์ในต้นเงินกู้เท่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยคือจำนวน 71,250 บาท เมื่อรวมกับเงินค่าปรับฐานผิดสัญญา จำนวน 1,200 บาท แล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 72,450 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 71,250 บาท นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 72,450 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 71,250 บาท นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share