แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ แต่ในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งมีการใช้กำลังประทุษร้ายรวมด้วยอย่างหนึ่ง และแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหก
เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานปล้นทรัพย์สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องความผิดฐานปล้นทรัพย์ไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 และพวกไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายไปตั้งแต่เริ่มแรก แต่จำเลยที่ 2 เอาทรัพย์สินดังกล่าวหลังจากร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายแล้วอันเป็นการกระทำต่างวาระ จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และลักทรัพย์ รวม 2 กรรม ซึ่งลงโทษได้ตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกในคดีอื่นมาก่อน และภายในเวลา ๕ ปี นับแต่วันพ้นโทษ จำเลยได้มากระทำความผิดคดีนี้ซ้ำอีกนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๔ ใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้ล้างมลทินแก่จำเลยทั้งสองซึ่งต้องคำพิพากษาดังกล่าว โดยให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน กรณีไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 92, 295, 340 และ 371 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 62.50 บาท แก่ผู้เสียหายและเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 371 ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธ ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณโดยเปิดเผย ปรับคนละ 90 บาท รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 12 ปี ปรับคนละ 90 บาท เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 16 ปี ปรับคนละ 120 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม และคำรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 10 ปี 8 เดือน และปรับคนละ 80 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 62.50 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวันและเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองและพวกอีก 1 คน ร่วมกันพาอาวุธมีด 1 เล่ม ไปที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงบางจาก สาขาศรีนครินทร์ 2 อันเป็นบริเวณที่เกิดเหตุ แล้วร่วมกันต่อย เตะ ผู้เสียหายหลายครั้งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ทั้งจำเลยที่ 2 เอาเงิน 50 บาท บุหรี่ยี่ห้อวันเดอร์ 10 มวน และกุญแจ 7 ดอก ไปจากผู้เสียหาย
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมีความน่าสงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง และเมื่อความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างคือการใช้กำลังประทุษร้ายด้วยอย่างหนึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหก
เนื่องจากศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ฐานปล้นทรัพย์จึงเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องฐานปล้นทรัพย์ไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกา ให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 และพวกไม่มีเจตนาเอาทรัพย์สินดังกล่าวของผู้เสียหายตั้งแต่เริ่มแรก แต่จำเลยที่ 2 เอาทรัพย์สินดังกล่าวหลังจากร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายแล้วอันเป็นการกระทำต่างวาระ จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ และลักทรัพย์ รวม 2 กรรม ซึ่งลงโทษได้ตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองเพราะจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกในคดีอื่นมาก่อน และภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จำเลยได้มากระทำความผิดคดีนี้ซ้ำอีกนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 4 ใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้ล้างมลทินแก่จำเลยทั้งสองซึ่งต้องคำพิพากษาดังกล่าว โดยให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน กรณีไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองได้
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานทำร้ายร่างกายจำคุกคนละ 45 วัน และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุกจำเลยทั้งสองฐานทำร้ายร่างกายคนละ 30 วัน และจำคุกจำเลยที่ 2 ฐานลักทรัพย์ 8 เดือน ยกฟ้องฐานปล้นทรัพย์ และยกคำขอเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองกับคำขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 62.50 บาท แก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6