คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่าอย่างไร และว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตนั้น มีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและตามทางไต่สวนมูลฟ้องที่โจทก์นำสืบ คำสั่งดังกล่าวจึงปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(5)แล้ว
คำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่แสดงถ้อยคำสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 1ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการกองสารวัตรอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยละเอียด ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า กระทรวงสาธารณสุขต้นสังกัดของจำเลยดำเนินการเกี่ยวแก่การโฆษณาขายรองเท้าสุขภาพของโจทก์ไปแล้วประการใดและมีความเห็นว่าการโฆษณาของโจทก์เกี่ยวแก่พระราชบัญญัติยาเป็นประการใดโดยฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ และการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งได้กระทำไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงวินิจฉัยสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิด ดังนี้ คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ปรากฏเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186(6) แล้ว.
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลมีอำนาจที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ หากเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ชอบที่จะยกฟ้องเสียได้ หาเป็นการก้าวล่วงผิดกระบวนพิจารณาไม่
ฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล และฎีกาว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลชั้นต้นก็มิได้ฟังฝ่าฝืน ล้วนเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 โจทก์จึงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมาอีกหาได้ไม่
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 4 เพียงแต่เป็น’เจ้าของหนังสือพิมพ์’ แต่มิได้กระทำการอันใด ซึ่งย่อมหมายความได้ว่าจำเลยที่ 4 มิได้จัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ตามบทนิยามของคำว่า ‘ผู้พิมพ์’ ตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484 มาตรา4 เมื่อจำเลยที่ 4 มิใช่ ‘ผู้พิมพ์’ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่4 จึงไม่มีมูลที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาในความผิดตาม มาตรา48 แห่ง พระราชบัญญัติ ดังกล่าว.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการกองสารวัตรอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากระทรวงสาธารณสุข จำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์รายวัน “ไทยรัฐ” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์พุทธศักราช 2484 จำเลยที่ 4 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเป็นเจ้าของผู้ประกอบการกิจการหนังสือพิมพ์รายวัน “ไทยรัฐ” ซึ่งพิมพ์จำหน่ายทั่วราชอาณาจักร และเป็นผู้พิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิพม์ พุทธศักราช 2484 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใส่ความโจทก์ทั้งสองต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ทั้งสองเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง โจทก์ทั้งสองมิได้กระทำการที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์ มิได้กระทำการตามที่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 พิมพ์โฆษณาประการใด ความจริงโจทก์มิได้โฆษณาหลอกลวงจำหน่ายรองเท้าสุขภาพแก่ประชาชน โจทก์โฆษณาเพียงว่ารองเท้าสุขภาพมีส่วนเว้านูนสามารถรองรับฝ่าเท้าได้พอดีและมีปุ่มเม็ดแม่เหล็กช่วยนวดเท้าในขณะสวมใส่เพื่อให้โลหิตในร่างกายหมุนเวียนดีขึ้นเท่านั้น ซึ่งจะมีผลให้การสวมใส่สบายเป็นการบริหารฝ่าเท้าไปในตัว ทั้งโจทก์ยังไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่กองสารวัตรอาหารและยาและตำรวจกองปราบปรามดำเนินคดี โจทก์ที่ 1ผู้เป็นเจ้าของบริษัทโจทก์ที่ 2 ก็ไม่เป็นบุคคลมีอิทธิพลอย่างใดตามที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใส่ความโจทก์ทั้งสอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 83 พระราชบัญญัติการพิมพ์พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันประกาศโฆษณาคำพิพากษาของศาลที่ลงโทษจำเลยในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์บ้านเมือง และเดลิมิเร่อร์เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันโดยให้จำเลยทั้งสี่เป็นผู้ชำระค่าประกาศโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้องคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 3 ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเป็นการแถลงถึงผลการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการโฆษณาขายรองเท้าสุขภาพของโจทก์ที่ 2 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการโฆษณาดังกล่าวฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติยา อันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่การกระทำของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้เขียนหรือลงข่าวในหนังสือพิมพ์ การที่จำเลยที่ 3 พิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์เพื่อจำหน่ายตามวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 4 ผู้เป็นเจ้าของนั้น เป็นการกระทำของจำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียว ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยที่ 4 ได้กระทำการอันใดอันหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด เพียงแต่จำเลยที่ 4เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์โดยมิได้กระทำการอันใดจะถือว่าจำเลยที่ 4กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ 3 หาได้ไม่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ไม่มีมูล ให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยทั้งสามนั้นเสีย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์มาในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคดีมีมูลตามฟ้องหรือไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคดีโจทก์มีมูลตามฟ้องหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ากระไร และว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตนั้นมีความหมายอยู่ในตัวแล้ว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงตามฟ้องและตามทางไต่สวนมูลฟ้องที่โจทก์นำสืบ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงปรากฏข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา186 (5) แล้วเมื่อกรณีเป็นดังกล่าว ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ต่อไปถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้อำนวยการกองสารวัตรอาหารและยาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2515 ข้อ 26 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พุทธศักราช 2515 (ฉบับที่ 3)พ.ศ. 2517 มาตรา 3 จำเลยทั้งสองย่อมเป็นเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งสองที่บรรยายฟ้องในข้อ 1 แล้ว โดยกฎหมายและโดยชื่อตำแหน่งของจำเลยทั้งสองวิญญูชนย่อมเข้าใจได้โดยง่ายกว่า จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ประการใด และตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ที่แสดงถ้อยคำสัมภาษณ์ของจำเลยทั้งสองโดยละเอียดนั้นเอง (ซึ่งศาลชั้นต้นก็ยอมรับฟังถ้อยคำที่จำเลยทั้งสองให้สัมภาษณ์นั้นแล้ว) ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่ากระทรวงสาธารณสุขต้นสังกัดของจำเลยทั้งสองดำเนินการเกี่ยวกับการโฆษณาขายรองเท้าสุขภาพของโจทก์ทั้งสองไปแล้วประการใดและมีความเห็นว่าการโฆษณาของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวแก่พระราชบัญญัติยาเป็นประกานใด โดยฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ราชการ และการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งได้กระทำไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงได้วินิจฉัยสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิด ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงปรากฏเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (6) บัญญัติไว้แล้วศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ และมีเหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามควรเหมาะแก่รูปคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว
โจทก์ทั้งสองฎีกาเกี่ยวแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 อีกข้อหนึ่งว่า ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลควรพิจารณาแต่เพียงว่า คดีมีมูลพอที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่เท่านั้น แต่ศาลชั้นต้นกลับพิจารณาเกินเลยไปถึงขั้นที่ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามฟ้องซึ่งการสั่งหรือพิพากษาเช่นนั้นเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นทำคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 หลังจากโจทก์และจำเลยสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 167 ข้อนี้เห็นว่า แม้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยได้ว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ หากเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ชอบที่จะยกฟ้องเสียได้หาเป็นการก้าวล่วงผิดกระบวนพิจารณาตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่
ฎีกาของโจทก์ทั้งสองนอกจากที่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้างต้นแล้วเป็นเรื่องที่โต้เถียงดุลพินิจในการฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการเกี่ยวแก่การโฆษณาของโจทก์ทั้งสองแล้วหรือไม่ เพียงใด จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 แถลงถึงการปฏิบัติงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นการแถลงโดยสุจริตหรือมิใช่ ซึ่งฎีกาดังกล่าวเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้นและที่ฎีกาว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในสำนวนนั้น ศาลชั้นต้นก็มิได้ฟังข้อเท็จจริงฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในสำนวนแต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน เมื่อคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 22โจทก์ทั้งสองจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมาอีกไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาเป็นยุติแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของโจทก์ทั้งสองไม่มีมูลที่จะประทับฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งสองฎีกาต่อไปสำหรับคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เป็น “เจ้าของหนังสือพิมพ์” และเป็น “ผู้พิมพ์” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 จำเลยที่ 4 ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 48 แล้ว ข้อนี้ เห็นว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 4 เพียงแต่เป็น”เจ้าของหนังสือพิมพ์” แต่มิได้กระทำการอันใด ซึ่งย่อมหมายความได้ว่าจำเลยที่ 4 มิได้จัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ตามบทนิยามของคำว่า “ผู้พิมพ์” ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ฯ มาตรา 4 เมื่อจำเลยที่ 4 มิใช่เป็น “ผู้พิมพ์” ฟ้องโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 จึงไม่มีมูลที่จะประทับฟ้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share