แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนฟ้องว่า ซื้อที่ดินมาจากผู้มีชื่อ และเกิดที่งอกลงไปในทะเล แต่เมื่อไปขอออกโฉนดแล้ว หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกให้อ้างว่า มิใช่ที่งอกขึ้นเองตามธรรมชาติ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่งอกที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕/๒๕๕๘
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดเพชรบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเพชรบุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๕๖ นางเสมอใจ แก้วรัตนอัมพร โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน ที่ ๑ นายชาย พานิชพรพันธุ์ ที่ ๒ นายพินิจ อุส่าห์ ที่ ๓ นายนิรันดร์ สมสมาน ที่ ๔ นายวาที อากาศวิภาต ที่ ๕ นายนพดล สนมณี ที่ ๖ นายรักศักดิ์ เทียนไชย ที่ ๗ นายอนพัทธ์ ผางามวิจิตร ที่ ๘ นางนิทรา แย้มบุตร ที่ ๙ นางวันเพ็ญ บุญเพชร ที่ ๑๐ นายศิริชัย ทวีชนม์ ที่ ๑๑ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๙๘๕/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๙๓ และเลขที่ ๑๖๑๗๙ ตำบลหาดเจ้าสำราญ (บางทะลุ) อำเภอเมืองเพชรบุรี (บ้านแหลม) จังหวัดเพชรบุรี โดยซื้อมาจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อปี ๒๕๓๐ นับแต่วันที่โจทก์ซื้อจนถึงปี ๒๕๕๐ ได้เกิดที่งอกออกไปจากที่ดินของโจทก์ไปยังทะเล เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๒๒ ตารางวา โดยบริเวณที่งอกดังกล่าวเป็นที่ดินบริเวณเดียวกับที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้เคยแบ่งหักไว้ให้เป็นทะเล ต่อมา สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ ๓ สาขาเพชรบุรี ได้นำดินมาถมลงบนที่งอกของโจทก์ส่วนที่อยู่ในแนวเขตชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้สูงขึ้น โดยมิได้ทำให้ที่งอกเพิ่มออกไปจากเดิม โจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่งต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี ผลการรังวัดได้เนื้อที่ ๒ งาน ๔๘ ตารางวา แต่สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ ๓ สาขาเพชรบุรี และนายกเทศมนตรีตำบลหาดเจ้าสำราญ คัดค้านการรังวัด และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๑ ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบสภาพที่งอกริมตลิ่งได้มีมติให้มีการเจาะพิสูจน์ชั้นดิน เป็นการประวิงเวลาและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และการที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดเพิกเฉยไม่ดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่งให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินเนื้อที่ ๒ งาน ๔๘ ตารางวา ที่งอกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๙๓ เป็นของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่งอกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๙๓ ให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ในฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสภาพที่งอกริมตลิ่งตามอำนาจหน้าที่ตามที่ระเบียบกฎหมายกำหนด การพิจารณาคำขอออกโฉนดเป็นอำนาจของคณะกรรมการชุดดังกล่าว จำเลยที่ ๓ ไม่เกี่ยวข้อง เมื่อคณะกรรมการมีมติให้ตรวจเจาะพิสูจน์ชั้นดิน การที่โจทก์ไม่ดำเนินการขอตรวจเจาะพิสูจน์ชั้นดินและนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสิบเอ็ดยังมิได้กระทำการใดๆ อันถือเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ ให้การว่า ที่พิพาทที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินมิใช่ที่งอกขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เกิดจากการที่โจทก์ได้นำดินทรายมาถม และเกิดจากการที่กรมเจ้าท่าทำเขื่อนป้องกันการกัดเซาะโดยการนำทรายบกมาถมบริเวณชายหาด เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการขอเจาะพิสูจน์ชั้นดิน การดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินจึงยังไม่อยู่ในชั้นการพิจารณาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเพชรบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่การอ้างเหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องจากจำเลยทั้งสิบเอ็ดไม่ออกโฉนดที่ดินในส่วนที่โจทก์อ้างว่างอกมาจากที่ดินโฉนดดังกล่าวข้างต้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๘ จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การว่า ที่งอกริมตลิ่งมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงต้องพิจารณาว่าที่งอกริมตลิ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นของโจทก์เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ดุลพินิจโดยการมีมติให้มีการเจาะพิสูจน์ชั้นดินเป็นการประวิงเวลา และโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทั้งเมื่อโจทก์มีหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินการจำเลยทั้งสิบเอ็ดเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่งอกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๙๓ เลขที่ดิน ๖๖๑ (๑๔) หน้าสำรวจ ๔๘๕ ตำบลหาดเจ้าสำราญ (บางทะลุ) อำเภอเมืองเพชรบุรี (บ้านแหลม) จังหวัดเพชรบุรี ให้แก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่วนประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่นั้น เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี แม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะที่จะนำประมวลกฎหมายดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดี ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนี้ มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๙๓ และเลขที่ ๑๖๑๗๙ โดยซื้อมาจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้เกิดที่งอกออกไปจากที่ดินของโจทก์ไปยังทะเล เมื่อโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ ๓ สาขาเพชรบุรี และนายกเทศมนตรีตำบลหาดเจ้าสำราญคัดค้านการรังวัด และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๑๑ ได้มีมติให้มีการเจาะพิสูจน์ชั้นดิน เป็นการประวิงเวลาและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินที่งอกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๙๓ เป็นของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสิบเอ็ดดำเนินการออกโฉนดที่ดินที่งอกออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๖๙๓ ให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า การพิจารณาคำขอออกโฉนดเป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจสภาพที่งอกริมตลิ่ง จำเลยที่ ๓ ไม่เกี่ยวข้อง การที่โจทก์ไม่ดำเนินการขอตรวจเจาะพิสูจน์ชั้นดินและนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ดถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบเอ็ด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๑ ให้การว่า ที่พิพาทที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินมิใช่ที่งอกขึ้นเองตามธรรมชาติ เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการขอเจาะพิสูจน์ชั้นดิน การดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินจึงยังไม่อยู่ในชั้นการพิจารณาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ที่ฟ้องต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่งอกที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางเสมอใจ แก้วรัตนอัมพร โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ นายชาย พานิชพรพันธุ์ ที่ ๒ นายพินิจ อุส่าห์ ที่ ๓ นายนิรันดร์ สมสมาน ที่ ๔ นายวาที อากาศวิภาต ที่ ๕ นายนพดล สนมณี ที่ ๖ นายรักศักดิ์ เทียนไชย ที่ ๗ นายอนพัทธ์ ผางามวิจิตร ที่ ๘ นางนิทรา แย้มบุตร ที่ ๙ นางวันเพ็ญ บุญเพชร ที่ ๑๐ นายศิริชัย ทวีชนม์ ที่ ๑๑ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๕