แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย อ้างว่าจำเลยจัดการประชุมใหญ่พิเศษเพื่อเลือกนายกสมาคม อุปนายกสมาคมและกรรมการสมาคมโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของจำเลย มติที่ประชุมใหญ่พิเศษ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยให้การว่า การประชุมใหญ่พิเศษเป็นไปโดยชอบด้วยข้อบังคับแล้วขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้รับมอบอำนาจโดยให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยในกิจการที่เกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่การจัดประชุมใหญ่พิเศษเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการสมาคมของจำเลย เป็นเรื่องการบริหารงานภายในสมาคมของจำเลย มิได้ดำเนินกิจการใดเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลตามวัตถุประสงค์ของจำเลย จึงยังไม่มีการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อดำเนินกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นการจัดการประชุมใหญ่พิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการบริหารสมาคมจำเลย จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม ซึ่งกระทำตามข้อบังคับที่ได้จดทะเบียนไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นการดำเนินการในทางแพ่ง ทั้งการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติในการประชุมใหญ่นั้น เป็นไปตามมาตรา ๑๐๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ว่า การประชุมใหญ่พิเศษสมาคมจำเลยไม่เป็นไปตามข้อบังคับ จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๕ /๒๕๕๗
วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่ง โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ บริษัทสโมสร ฟุตบอล พัทยา จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้อง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๔๑๗/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด และเป็นเจ้าของทีมสโมสรฟุตบอลพัทยา เอฟซี หรือสโมสรพัทยาฟุตบอลคลับ สโมสรฟุตบอลของโจทก์เป็นสมาชิกของจำเลยและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการสมาคมในที่ประชุมใหญ่ของจำเลยตามข้อบังคับของจำเลย จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทสมาคม จดทะเบียนต่อนายทะเบียนสมาคมกรมการปกครอง โดยมีสโมสรฟุตบอลในประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก มีนายกสมาคมเป็นผู้บริหารและเลขาธิการสมาคมเป็นผู้ดูแลการบริหารงานสมาคม ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการของจำเลย เดิมการบริหารงานของจำเลยอยู่ภายใต้ข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลย ฉบับปี ๒๕๔๖มีนายวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคม ซึ่งครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๖และจำเลยจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สมาชิกเพื่อเลือกตั้งนายกสมาคมคนใหม่ตามข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลย แต่นายวรวีร์ มะกูดี ได้มีหนังสือเชิญสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมใหญ่พิเศษ ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ เพื่อพิจารณาแก้ไขข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลยฉบับปี ๒๕๔๖ เป็นฉบับปี ๒๕๕๖ ซึ่งที่ประชุมมีมติรับรองข้อบังคับฉบับปี ๒๕๕๖ ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ จำเลยได้จัดการประชุมใหญ่พิเศษเพื่อเลือกนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการสมาคมของจำเลย และที่ประชุมลงมติออกเสียงเลือกนายวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคม เลือกอุปนายกสมาคมจำนวน ๕ ตำแหน่ง และคณะกรรมการจำนวน ๑๓ ตำแหน่ง โดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลยหลายประการ ประการแรก การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการอุทธรณ์โดยมิชอบ ประการที่สอง การออกเสียงโดยบุคคลที่ไม่ใช่ตัวแทนของสโมสรที่มีสิทธิออกเสียง ประการที่สาม การออกเสียงโดยบุคคลที่ไม่ได้อยู่หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทีมสโมสรที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนและประการสุดท้าย การออกเสียงโดยกรรมการของจำเลยที่ทำหน้าที่อยู่ ซึ่งต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนน มติที่ประชุมใหญ่พิเศษดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่พิเศษ ในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ ห้ามจำเลยนำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้แก่จำเลย ให้ศาลมีคำพิพากษาให้การประชุมใหญ่พิเศษดังกล่าว ตกเป็นโมฆะ และมีคำสั่งให้จำเลยจัดประชุมใหญ่พิเศษเพื่อเลือกนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการสมาคมของจำเลยใหม่ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
จำเลยให้การว่า การที่จำเลยจัดการประชุมใหญ่พิเศษในวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลยและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์และจำเลยต่างไม่มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยสภาพ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ตามมาตรา ๕๓ มาตรา ๕๔ และมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ จำเลยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง เห็นว่าบทบัญญัติมาตรา ๕๓ ที่กำหนดว่าการจะจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาใดต้องได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทยก่อน มาตรา ๕๔ ที่กำหนดว่า สมาคมที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๕๓ ต้องอยู่ในความควบคุมของการกีฬาแห่งประเทศไทยและต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่การกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนด และมาตรา ๕๗ ที่กำหนดว่ากรรมการสมาคมให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปีและอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน เป็นเพียงมาตรการในการควบคุมและกำกับดูแลการดำเนินกิจการของจำเลยหรือสมาคมกีฬาอื่นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เป็นไปโดยเรียบร้อย แต่การดำเนินกิจการที่เป็นเรื่องภายในของจำเลย เช่น การเลือกนายกสมาคม เป็นต้น จำเลยสามารถดำเนินการได้เองภายใต้ข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลย จึงไม่ใช่การมอบหมายให้จำเลยใช้อำนาจทางปกครอง หรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ประกอบกับคดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าการลงมติในที่ประชุมใหญ่พิเศษของจำเลยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลย และขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่พิเศษดังกล่าว ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ว่าการลงมติในการประชุมใหญ่พิเศษเป็นไปโดยชอบตามข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าการลงมติในที่ประชุมใหญ่พิเศษของจำเลยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับลักษณะปกครองของจำเลยหรือไม่ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๐ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์อ้างว่าได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย จากการที่จำเลยได้จัดให้มีการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่ได้เลือกตั้งนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการของจำเลย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับลักษณะปกครองของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ กรณีจึงเป็นการอ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ซึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการประชุมใหญ่ของจำเลย โดยที่การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นองค์การของรัฐจัดตั้งขึ้นและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม การกีฬา และประกอบกิจการอื่นๆ อันเกี่ยวแก่หรือเพื่อประโยชน์ของการกีฬาตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ การกีฬาแห่งประเทศไทยจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อจำเลยมีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการกีฬาฟุตบอลหรือการส่งเสริมกีฬาฟุตบอล และต้องดำเนินกิจการให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นโยบาย และอยู่ในความควบคุมการดำเนินการของการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องจำเลยจึงเป็นสมาคมทางปกครองที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ในกิจการเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล จึงมีสถานะเป็นหน่วยงานทางปกครองและการเลือกตั้งหรือการสรรหาสภากรรมการของจำเลยตามกระบวนการการเลือกตั้งโดยที่ประชุมใหญ่ของจำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการของจำเลย อันประกอบเป็นสภากรรมการที่เป็นคณะกรรมการบริหารของจำเลย สภากรรมการของจำเลยจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การเลือกตั้งกรรมการของจำเลย จึงเป็นกระบวนการให้ได้มาซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ การที่โจทก์และจำเลยมีการโต้แย้งกันว่าการดำเนินการจัดการเลือกตั้งนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการของจำเลยเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยจัดการประชุมใหญ่พิเศษเพื่อเลือกนายกสมาคม อุปนายกสมาคมและกรรมการสมาคมโดยฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของจำเลย มติที่ประชุมใหญ่ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประชุมใหญ่พิเศษเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ เป็นโมฆะ เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่พิเศษดังกล่าว ห้ามจำเลยนำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน ห้ามนายทะเบียนรับจดทะเบียนให้แก่จำเลย และให้จำเลยจัดประชุมใหญ่พิเศษเพื่อเลือกนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการสมาคมของจำเลยใหม่ภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา จำเลยให้การว่า การประชุมใหญ่พิเศษเป็นไปโดยชอบด้วยข้อบังคับแล้ว ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า จำเลยเป็นสมาคมจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนากีฬาฟุตบอล ส่งเสริม วางระเบียบข้อบังคับและกำกับดูแลกีฬาฟุตบอลในประเทศไทย จัดระบบการแข่งขันฟุตบอลทุกรูปแบบในระดับชาติ บริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์การกีฬาระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมาคม เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลในระดับนานาชาติ ฯลฯ ซึ่งการจัดการกีฬาหรือการส่งเสริมให้มีกีฬาเป็นบริการสาธารณะของรัฐประการหนึ่ง และการที่จำเลยจะจัดตั้งสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการกีฬาหรือการส่งเสริมกีฬาดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๘ และในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของจำเลยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของการกีฬาแห่งประเทศไทย ตามมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อจำเลยได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมกีฬาจากการกีฬาแห่งประเทศไทย จำเลยจึงเป็นสมาคมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้รับมอบอำนาจให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ในกิจการเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ อย่างไรก็ตาม การจัดประชุมใหญ่พิเศษ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และกรรมการสมาคมของจำเลย เป็นเรื่องการบริหารงานภายในสมาคมของจำเลย มิได้ดำเนินกิจการใดเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลตามวัตถุประสงค์ของจำเลย จึงยังไม่มีการใช้อำนาจทางปกครองเพื่อดำเนินกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมาย ดังนั้นการจัดการประชุมใหญ่พิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการบริหารสมาคมจำเลย จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคม ซึ่งกระทำตามข้อบังคับที่ได้จดทะเบียนไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และเป็นการดำเนินการตามมาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นการดำเนินการในทางแพ่ง ทั้งการร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติในการประชุมใหญ่นั้นเป็นไปตามมาตรา ๑๐๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีตามคำฟ้องของโจทก์ว่าการประชุมใหญ่พิเศษ สมาคมจำเลยไม่เป็นไปตามข้อบังคับ จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลในทางแพ่ง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง บริษัทสโมสร ฟุตบอล พัทยา จำกัด โจทก์ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ