แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตยทับที่ดิน น.ส.3 ก. ของผู้ฟ้องคดี ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตย เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เนื่องจากการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามที่กล่าวอ้างหรือที่ดินพิพาทเป็นที่หลวงแปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตยเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๖/๒๕๕๗
วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดพิมาย
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๖ นายอ่อน ศิริอาจ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาพิมาย ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๖/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตย ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา ๔๙ ปี โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๔๓ ตำบลกระเบื้องใหญ่ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ผู้ฟ้องคดีจึงได้คัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีคัดค้านการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงให้ไปใช้สิทธิทางศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมา ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านเตย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า ในการรังวัดหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดไปตามหลักฐานเดิมคือบัญชีสำรวจที่สาธารณประโยชน์ แปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตยโดยถูกต้องแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดิน และไม่สามารถอ้างอายุความขึ้นต่อสู้กับที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับหน่วยงานของรัฐผู้มีอำนาจดูแลรักษาที่ดินสาธารณประโยชน์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ดำเนินการรังวัดที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เพื่อจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเพื่อแสดงเขตไว้เป็นหลักฐาน ตามมาตรา ๘ ตรี วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยความในข้อ ๒ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง คดีนี้เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตยทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ต่อเนื่องจาก นายเชย ศิริอาจ และนางคำมี ศิริอาจ เป็นเวลา ๔๙ ปี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย โดยผู้ฟ้องคดีได้คัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวแล้ว และได้ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนผลการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าวที่ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจ ตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพิมายพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตย ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๔๓ ผู้ฟ้องคดีจึงได้คัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือแจ้งว่า ผู้ฟ้องคดีคัดค้านการรังวัดออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง โดยไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านเตย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การในทำนองเดียวกันว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการรังวัดไปตามหลักฐานเดิมคือ บัญชีสำรวจที่สาธารณประโยชน์แปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตยโดยถูกต้องแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดิน และไม่สามารถอ้างอายุความขึ้นต่อสู้กับที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์แปลงที่เลี้ยงสัตว์บ้านเตยเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายอ่อน ศิริอาจ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาพิมาย ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๒ อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ