แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่ามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าตาม ภ.บ.ท. ๕ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ตามปกติสุข จำเลยทั้งสองให้การว่าไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๕ /๒๕๕๗
วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดตาก
ระหว่าง
ศาลปกครองพิษณุโลก
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดตากโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๖ นายเสรี สืบโม้ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายพัลลภ ศรีภา นายอำเภอเมืองตาก ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ท้อ ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดตาก เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๘/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่า มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยชำระภาษีบำรุงท้องที่ถูกต้องปรากฏหลักฐานตามใบ ภ.ท.บ. ๕ เลขสำรวจที่ ๓๗/๔๕ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่ท้อ อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ วา เมื่อระหว่างวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จำเลยทั้งสองนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ท้อ โดยกล่าวหาว่า โจทก์เข้าไปบุกรุกครอบครองและทำประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันบริเวณใต้ฝายน้ำล้นพัฒนาชนบทห้วยแม่ท้อ และจำเลยทั้งสองยังได้ทำพยานหลักฐาน อันเป็นเท็จว่า ที่ดินพิพาทเกิดจากการก่อสร้างฝายน้ำล้นทำให้น้ำในลำห้วยแม่ท้อไหลเปลี่ยนทิศตะกอนดินที่ไหลปะปนมากับน้ำทับถมจนเป็นที่งอก ทั้งที่โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนการก่อสร้างฝายน้ำล้นห้วยแม่ท้อและไม่ใช่ที่งอก พนักงานสอบสวนหลงเชื่อและดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่าตาม ภ.ท.บ. ๕ เลขสำรวจที่ ๓๗/๔๕ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ตามปกติสุข
จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ดินพิพาทเดิมเป็นลำห้วยแม่ท้อ ต่อมามีการสร้างฝายน้ำล้นทำให้น้ำเปลี่ยนทิศ จึงเกิดเป็นที่พิพาท ซึ่งยังคงเป็นที่สาธารณประโยชน์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน การที่โจทก์เข้ามาครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นการบุกรุกที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง อนึ่ง ในข้อเท็จจริงดังกล่าว พนักงานอัยการได้เคยยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดตาก เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๑๒/๒๕๕๔ หมายเลขแดงที่ ๔๑/๒๕๕๕ ศาลได้พิพากษาว่าโจทก์คดีนี้มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๐ และมาตรา ๓๖๘, วรรคแรก ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ (๑) และมาตรา ๑๐๘ วรรคสอง โจทก์จึงนำใบ ภ.ท.บ. ๕ มาอ้างกับรัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหาได้ไม่
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และกระทำการตามหน้าที่ คดีจึงอยู่ในอำนาจ พิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดตากพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครอง การที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นเหตุให้โจทก์ถูกดำเนินคดีอาญา อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ดังนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองพิษณุโลกพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาข้อหาบุกรุกที่ดินอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน อันเป็นการใช้อำนาจดูแลคุ้มครองป้องกันที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยที่จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและจำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ เมื่อโจทก์เห็นว่าได้รับความเสียหายจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองที่ดินอันเป็นที่สาธารณประโยชน์ของจำเลยทั้งสอง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครอง มิให้พิจารณาว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดิน อีกทั้งในคดีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ตามมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย ตามคำฟ้องอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมือเปล่ามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ โดยชำระภาษีบำรุงท้องที่ถูกต้องปรากฏหลักฐานตามใบ ภ.ท.บ. ๕ จำเลยทั้งสองนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่ท้อ โดยกล่าวหาว่าโจทก์เข้าไปบุกรุกครอบครองและทำประโยชน์ในที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันบริเวณใต้ฝายน้ำล้นพัฒนาชนบทห้วยแม่ท้อและจำเลยทั้งสองยังได้ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จว่า ที่ดินพิพาทเกิดจากการก่อสร้างฝายน้ำล้น ทำให้น้ำในลำห้วยแม่ท้อไหลเปลี่ยนทิศตะกอนดินที่ไหลปะปนมากับน้ำทับถมจนเป็นที่งอก ทั้งที่โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวก่อนการก่อสร้างฝายน้ำล้นห้วยแม่ท้อและไม่ใช่ที่งอก พนักงานสอบสวนหลงเชื่อและดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินมือเปล่า ตาม ภ.ท.บ. ๕ เลขสำรวจที่ ๓๗/๔๕ ห้ามจำเลยทั้งสองเข้ามารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ตามปกติสุข จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายเสรี สืบโม้ โจทก์ นายพัลลภ ศรีภา นายอำเภอเมืองตาก ที่ ๑ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ท้อ ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) นายดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ