คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18324/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินให้โจทก์จำนวน 198,561,414.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 180,095,464.56 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มีคณะกรรมการ 11 คน ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน และเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ส่วนจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2532 จำเลยได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบกิจการจัดการลงทุน และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้เป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2538 โจทก์ทำสัญญาแต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โจทก์ โดยจำเลยจะได้รับค่าตอบแทนจากการจัดการกองทุนปีละ 1 ครั้ง ในอัตราร้อยละ 0.50 ของผลประโยชน์ของกองทุน และจำเลยมีหน้าที่จัดการกองทุนและนำเงินกองทุนไปแสวงหาประโยชน์ตามที่จำเลยเห็นสมควรภายใต้ข้อบังคับของกองทุนและตามกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับใด ๆ เกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจำเลยตกลงรับประกันต่อโจทก์ว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันทำสัญญา กองทุนจะมีอัตราผลประโยชน์เฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนไม่ต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่รับประกัน คือ ไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี อัตราหนึ่ง หรือไม่ต่ำกว่าอัตราร้อยละ 3.5 บวกด้วยอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศกำหนดในระยะเวลา 3 ปี อีกอัตราหนึ่ง แล้วแต่อัตราใดจะสูงกว่ากัน หากจัดการได้ผลประโยชน์เฉลี่ยดังกล่าวต่ำกว่าผลประโยชน์ที่รับประกัน จำเลยต้องจ่ายชดเชยจำนวนเงินส่วนต่างของจำนวนเงินผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนกับจำนวนเงินผลประโยชน์ที่รับประกันให้แก่โจทก์ ทั้งนี้ในการคำนวณผลประโยชน์ของกองทุนให้คิดคำนวณโดยตีราคาหลักทรัพย์ต่าง ๆ ของกองทุนตามราคาตลาดของหลักทรัพย์นั้นในวันที่ครบกำหนด 3 ปี นับแต่วันทำสัญญา จำนวนเงินผลประโยชน์ที่รับประกันดังกล่าวจำเลยตกลงให้คำนวณจากเงินกองทุน (ซึ่งได้กำหนดให้เงินกองทุน หมายถึง “เงินที่สมาชิกจ่ายสะสมและเงินที่ธนาคารจ่ายสมทบ รวมทั้งเงินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีผู้อุทิศให้ และผลประโยชน์จากเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าว”) อัตราผลประโยชน์ที่รับประกันและระยะเวลา ทั้งนี้เป็นไปตามตัวอย่างวิธีการคำนวณที่จัดทำบันทึกไว้ท้ายสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำเลยเริ่มจัดการกองทุนตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2538 เป็นต้นมา ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2541 โจทก์ส่งมอบเงินกองทุนเก่าเป็นเงินสดจำนวน 2,660,868,730.78 บาท (คู่ความรับกันตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544) ให้จำเลยเพื่อนำไปลงทุนหาผลประโยชน์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2538 และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ส่งเงินสะสมส่วนของสมาชิกและเงินสมทบส่วนของธนาคารเข้ากองทุนตามกำหนดระยะเวลาทุกเดือนตามสัญญาและข้อบังคับกองทุน โดยได้เริ่มต้นจ่ายเงินเข้ากองทุนงวดแรกตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2538 เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายก่อนครบกำหนดระยะเวลาจัดการกองทุนตามสัญญา รวมเป็นเงินที่จ่ายสะสมและจ่ายสมทบจำนวน 1,294,879,135.11 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ส่งให้จำเลยนำไปจัดการหาผลประโยชน์ตลอดระยะเวลา 3 ปี ทั้งสิ้น 3,955,747,865.89 บาท จำเลยนำเงินกองทุนไปลงทุนในกิจการหลายอย่างได้แก่ การลงทุนเป็นเงินฝาก ตั๋วเงิน หุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น และพันธบัตรรัฐบาล ตลอดระยะเวลา 3 ปี ตามสัญญา เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตามสัญญาแล้ว ปรากฏว่าอัตราผลประโยชน์ที่ได้รับประกันที่คำนวณได้จากอัตราร้อยละ 3.5 บวกด้วยอัตราเฉลี่ยของดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 12 เดือน ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศกำหนดในระหว่างเวลา 3 ปี ดังกล่าว เมื่อคำนวณตามวิธีการตามบันทึกท้ายสัญญามีอัตราเฉลี่ยร้อยละ 13.61 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราผลประโยชน์ที่รับประกันอีกอัตราหนึ่งที่กำหนดไว้ในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี จึงต้องใช้อัตราผลประโยชน์ที่รับประกันที่อัตราร้อยละ 13.61 ต่อปี เป็นเกณฑ์ในการคำนวณผลประโยชน์ที่รับประกัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2541 จำเลยจัดแสดงรายงานการจัดการกองทุนว่า เงินกองทุนของโจทก์รวมทั้งสินทรัพย์ทั้งหมดมีมูลค่าจำนวน 4,568,041,945.70 บาท และปรากฏว่าผลประโยชน์เฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมของกองทุนต่ำกว่าผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยคำนวณผลประโยชน์ที่รับประกันตามสัญญาแล้วอ้างว่า จำเลยต้องจ่ายเงินชดเชยผลประโยชน์ให้โจทก์อีกเป็นเงิน 126,048,479.18 บาท จำเลยได้หักเงินค่าจัดการกองทุนเป็นจำนวน 1,517,476.72 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกจำนวน 118,710 บาท คงเหลือเงินที่ชดเชยให้โจทก์จำนวน 124,412,292.46 บาท และจำเลยจ่ายเงินผลประโยชน์จำนวน 124,412,292.46 บาท ให้แก่โจทก์ และในวันที่ 26 มิถุนายน 2541 ได้จ่ายเงินให้โจทก์อีกจำนวน 8,455,921.83 บาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 132,868,214.29 บาท
ก่อนจะวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์เห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยก่อนว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โจทก์ทำกับจำเลยนั้น จำเลยมีหน้าที่บริหารจัดการกองทุนและดำเนินการต่าง ๆ แทนโจทก์ ความผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นความผูกพันในฐานะตัวการกับตัวแทน หาใช่เป็นความผูกพันในฐานะผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของไม่ ซึ่งในเรื่องตัวการตัวแทนนั้นไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายได้ภายในอายุความ 10 ปี ซึ่งเมื่อนับจากวันที่สัญญาสิ้นสุดจนถึงวันฟ้องยังไม่เกินกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า ข้อตกลงที่กำหนดให้จำเลยรับผิดในส่วนต่างระหว่างผลประโยชน์ของกองทุนกับจำนวนเงินผลประโยชน์ที่รับประกันเป็นข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยตกลงกันไว้ว่า หากจำเลยบริหารจัดการกองทุนโจทก์ได้รับผลประโยชน์ในอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลประโยชน์รวมทั้งหมดของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่รวมเงินบริจาคต่ำกว่าอัตราผลประโยชน์ที่จำเลยรับประกัน จำเลยจะชดเชยเงินที่ขาดนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่จะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 นั่นเอง เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับแล้ว ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามมาตรา 383 ที่ศาลอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับลงโดยคำนึงถึงทางได้เสียของคู่ความ และสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้นจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share