แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 121 มาตรา 122 หรือมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124แล้ว การที่จะวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 41(4) และมาตรา 125 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อหาข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นในเรื่องที่ได้รับมอบหมายตามมาตรา 42 รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการในการสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามที่ระบุไว้ในมาตรา 43 และมาตรา 44 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติว่าต้องส่งสำเนาคำร้องกล่าวหาให้แก่ผู้ฝ่าฝืนและต้องให้สิทธิแก่นายจ้างหรือลูกจ้างที่จะเข้าฟังและซักถามพยานของอีกฝ่ายหนึ่งดังเช่นการพิจารณาคดีของศาล ดังนั้น จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการไปตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเป็นธรรมแก่คู่กรณีการที่จำเลยที่ 14 ขอเพิ่มเติมข้อกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับโดยจำเลยที่ 14 เป็นกรรมการสหภาพแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง แล้วคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมให้โจทก์ทราบโดยไม่ส่งสำเนาให้นั้น เป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว ส่วนกรณีที่คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าฟังการสอบสวนพยานของจำเลยที่ 14 ก็เป็นการใช้อำนาจโดยชอบ จะถือว่าคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ กรณีที่โจทก์ได้ลงโทษภาคทัณฑ์จำเลยที่ 14 มาก่อนแล้ว โจทก์จะนำความผิดที่เคยลงโทษแล้วนั้นมาเป็นเหตุเลิกจ้างจำเลยที่ 14โดยไม่ได้กระทำความผิดขึ้นใหม่อีกหาได้ไม่ และแม้โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 โดยไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง ก็ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้เป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 123
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 เพราะเหตุฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ไม่ใช่เพราะเหตุที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องเพิ่มเติมข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 14 ให้โจทก์ ทั้งโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตเข้าฟังหรือซักค้านการสอบสวนพยานจำเลยที่ 14 คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอน จำเลยให้การว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 และการส่งสำเนาคำร้องเพิ่มเติมข้อกล่าวหาหรือ การให้โจทก์เข้าฟังการสอบสวนพยานของจำเลยที่ 14 หรือไม่เป็นอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ว่า การสอบสวนของคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันกับการพิจารณาของศาลคือ ต้องพิจารณาโดยเปิดเผย และให้โอกาสฝ่ายหนึ่งซักถามพยานของอีกฝ่ายหนึ่งได้ กรณีที่มีการร้องขอเพิ่มเติมข้อกล่าวหาก็ต้องส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งล่วงหน้าเป็นระยะเวลาพอสมควร การที่คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์มิได้ส่งสำเนาคำร้องขอเพิ่มเติมข้อกล่าวหาของจำเลยที่ 14 ให้แก่โจทก์ โดยเพียงแต่แจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบและไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าฟังการสอบสวนพยานของจำเลยที่ 14 นั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 121 มาตรา 122 หรือมาตรา 123แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องกล่าวหาผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามมาตรา 124แล้ว การที่จะวินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา41(4) และมาตรา 125 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อหาข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นในเรื่องที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มอบหมายได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 สำหรับการสอบสวนหาข้อเท็จจริงนั้น กรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจดังที่ระบุไว้ในมาตรา 43และมาตรา 44 กล่าวคือ เข้าไปในสถานที่ทำงานของนายจ้าง สถานที่ที่ลูกจ้างทำงานอยู่ หรือสำนักงานของสมาคมนายจ้าง สหภาพแรงงานสหพันธ์นายจ้าง หรือสหพันธ์แรงงานในระหว่างเวลาทำการ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบเอกสาร มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเพื่อประกอบการพิจารณา มีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้อง จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หาได้บัญญัติว่าต้องส่งสำเนาคำร้องกล่าวหาให้แก่ผู้ฝ่าฝืน และต้องให้สิทธิแก่นายจ้างหรือลูกจ้างที่จะเข้าฟัง และซักถามพยานของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังเช่นการพิจารณาคดีของศาลตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ฉะนั้น การสอบสวนหาข้อเท็จจริงก่อนวินิจฉัยชี้ขาด จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์หรือคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่จะใช้ดุลพินิจดำเนินการไปตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและความเป็นธรรมแก่คู่กรณีการที่จำเลยที่ 14 ขอเพิ่มเติมข้อกล่าวหาว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับโดยจำเลยที่ 14 เป็นกรรมการสหภาพแรงงานสหโมเสคสระบุรี ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วย แล้วคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ซึ่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์แต่งตั้งขึ้นสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้อง ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมให้โจทก์ทราบโดยไม่ส่งสำเนาให้นั้นเห็นว่าเป็นการเหมาะสมแก่พฤติการณ์แล้ว ส่วนกรณีที่คณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่อนุญาตให้โจทก์เข้าฟังการสอบสวนพยานของจำเลยที่ 14นั้น เป็นการใช้อำนาจโดยชอบของคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะถือว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือคณะอนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14เพราะเหตุที่จำเลยที่ 14 ได้กระทำผิดต่อข้อบังคับของโจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางฟังมา โจทก์ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 14 ได้ทั้งการที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 นั้น มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์กลั่นแกล้ง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 เห็นว่า แม้โจทก์จะได้ลงโทษจำเลยที่ 14 โดยการภาคทัณฑ์มาก่อนแล้วก็ตาม แต่โจทก์จะนำความผิดที่เคยลงโทษแล้วนั้นมาเป็นเหตุเลิกจ้างจำเลยที่ 14 โดยที่มิได้กระทำความผิดใหม่อีกหาได้ไม่ ส่วนข้อที่โจทก์กล่าวอ้างว่า หลังจากโจทก์ลงโทษภาคทัณฑ์จำเลยที่ 14 แล้ว จำเลยที่ 14 ได้กระทำความผิดใหม่ โดยทำบัตรสนเท่ห์ใส่ความผู้บังคับบัญชาและพูดว่านายชัยวุฒิไม่ยุติธรรม เป็นการหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา ซึ่งเป็นความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างนั้น เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 14 เป็นผู้ทำบัตรสนเท่ห์และจำเลยที่ 14 ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทนายชัยวุฒิแล้วโจทก์จะอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้เพราะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 สำหรับกรณีที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 14 โดยมิได้มีการกลั่นแกล้งนั้น ไม่ใช่เหตุซึ่งทำให้การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 123 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน