แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครองขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินกับให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีนำที่ดินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการยกที่ดินให้ และนำที่ดินไปรวมกับที่ดินแปลงอื่นออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาข้อตกลงหรือเงื่อนไขในการยกให้ระหว่างเจ้าของที่ดินเดิมกับผู้ถูกฟ้องคดี แม้จะมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สาระสำคัญเป็นเพียงการอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งตามข้อตกลงในการให้ที่ดินนี้ เป็นกรณีที่ผู้ให้มุ่งผูกพันตนกับผู้ถูกฟ้องคดีด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ข้อตกลงในการอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นข้อตกลงทางแพ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามบทนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับข้อตกลงในการอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๓/๒๕๕๘
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นางชวนพิศ ชมไพบูลย์ ที่ ๑ นางสาวแขไข แก้วนารายณ์ ในฐานะทายาทของนางทรัพย์ แก้วนารายณ์ ที่ ๒ นางสาวมาลี อนุประเสริฐ ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๕๓/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๑๙ ตำบลฉิมพลี (ศีศะคู) อำเภอตลิ่งชัน (บางใหญ่) กรุงเทพมหานคร ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๒๓ และเลขที่ ๓๒๔ ตำบลฉิมพลี (ศีศะคู) อำเภอตลิ่งชัน (บางใหญ่) กรุงเทพมหานคร เมื่อประมาณปี ๒๔๘๔ เจ้าของที่ดินเดิมได้ยกที่ดินบางส่วนของที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวให้แก่กรมรถไฟ เพื่อใช้ก่อสร้างชานชาลาและสถานีรถไฟโดยที่ดินโฉนดเลขที่ ๓๑๙ ระบุไว้ในโฉนดที่ดินโดยชัดแจ้งว่าแบ่งให้ทางรถไฟสายใต้ แต่ปรากฏว่าตั้งแต่มีการยกที่ดินให้จนถึงปัจจุบันผู้ถูกฟ้องคดียังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างชานชาลาและสถานีรถไฟแต่อย่างใด กลับนำที่ดินดังกล่าวไปให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เช่าเป็นระยะเวลา ๓๐ ปี โดยผู้เช่าได้นำที่ดินที่เช่าไปให้กลุ่มชุมชนริมทางรถไฟสายใต้เช่าช่วงเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย อันเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ในการยกที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีได้นำที่ดินดังกล่าวไปรวมกับที่ดินแปลงอื่น และออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๖๖ ตำบลศาลาธรรมสพน์ อำเภอทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร โดยแจ้งผู้ถือกรรมสิทธิ์ว่าได้ที่ดินมาโดยการครอบครอง ซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๖๖ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินส่วนที่ได้ยกให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า เจ้าของที่ดินเดิมยกที่ดินพิพาททั้งสามแปลงให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อใช้ประโยชน์เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายใต้ โดยไม่มีเงื่อนไขจำกัดการใช้ประโยชน์และไม่มีข้อตกลงการขอคืนที่ดิน การนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลอื่นเช่าเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ไม่ใช่การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีครอบครองและใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์แก่กิจการของการรถไฟ จึงถือว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดหาหรือเช่าถือไว้ใช้ในกิจการรถไฟโดยชอบด้วยกฎหมาย อันถือเป็น”ที่ดินรถไฟ” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช๒๔๖๔ ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ ยกกำหนดอายุความขึ้นต่อสู้สิทธิของแผ่นดินเหนือที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นของรถไฟ ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น ผู้ถูกฟ้องคดีได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาโดยผลของกฎหมาย และได้ครอบครองติดต่อกันมาโดยยึดถือเพื่อตนด้วยการแสดงความเป็นเจ้าของมาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว และเจ้าพนักงานที่ดินก็ได้รับรองสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีด้วยการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๖๖ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี โดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน การนำที่ดินหรือทรัพย์สินของการรถไฟออกให้บุคคลอื่นเช่าก็เป็นการดำเนินการภายใต้อำนาจกฎหมาย และเป็นการจัดหารายได้ทางหนึ่งเพื่อใช้สนับสนุนกิจกรรมบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ทำกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในฐานะฝ่ายปกครองบังคับซื้อที่ดินพิพาท ผู้ยกให้คาดหวังประโยชน์จากการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีอันทำให้ที่ดินส่วนที่เหลือได้รับประโยชน์จากราคาที่ดินที่สูงขึ้น การยกให้ที่ดินพิพาทกระทำก่อนมีการจัดตั้งศาลปกครอง จึงมิใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง เพราะประเด็นแห่งคดีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ โดยพิจารณาถึงประเด็นแห่งคดีว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีสิทธิเพิกถอนการให้หรือไม่ ซึ่งต้องใช้หลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายในขณะนั้นบัญญัติไว้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะนำที่ดินรถไฟไปจัดหาประโยชน์เพื่อนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟในการจัดทำบริการสาธารณะด้านคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย และเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ตามนัยมาตรา ๖ (๒) ประกอบกับมาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองและดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดเกี่ยวกับผลประโยชน์ในทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและระเบียบของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีหาได้มีดุลพินิจอิสระในการนำที่ดินรถไฟไปจัดหาประโยชน์ได้ดังเช่นเอกชนทั่วไปแต่อย่างใดไม่ เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลโดยประสงค์ให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งหากไม่สามารถคืนได้ก็ให้ชดใช้ค่าที่ดินคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม เห็นว่า ที่ดินพิพาทซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้มาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ มีฐานะเป็นที่ดินรถไฟตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำที่ดินดังกล่าวให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เช่า จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีใช้อำนาจตามกฎหมาย ในการนำที่ดินรถไฟไปจัดหาประโยชน์ตามนัยมาตรา ๖ (๒) ประกอบกับมาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีนำที่ดินพิพาทไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคเพื่อใช้สร้างชานชาลาและสถานีรถไฟ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้นำทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้การรถไฟแห่งประเทศไทยไปใช้ตามวัตถุประสงค์ ของผู้บริจาคตามระเบียบการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ ๒.๑ ว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ข้อ ๑๐ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามในฐานะทายาทของผู้บริจาค จึงขอให้คืนที่ดินพิพาทแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสามขอให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๖๖ กับขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม หากคืนไม่ได้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ราคาแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ถูกฟ้องคดีให้การต่อสู้ว่า หลังจากเจ้าของที่ดินเดิมยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสามแปลง ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็น “ที่ดินรถไฟ” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ห้ามไม่ให้เอกชนหรือบริษัทใดๆ หวงห้ามหรือถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินรถไฟหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น และต่อสู้ว่าเมื่อกิจการรถไฟได้โอนมาตามพระราชบัญญัติการรถไฟ แห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจที่จะดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่รับโอนมา มีอำนาจจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการรถไฟเพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และไม่ใช่การเพิกถอนการให้เพราะเหตุเนรคุณตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความ เสียก่อนว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงที่เจ้าของเดิมยกให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อใช้ก่อสร้างชานชาลาและสถานีรถไฟ ก่อนมีการนำไปรวมกับที่ดินแปลงอื่น และออกโฉนดใหม่เลขที่ ๗๑๖๖ เป็นที่ดินรถไฟที่ได้รับความคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวง พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ และผู้ฟ้องคดีทั้งสามมีอำนาจฟ้อง ขอให้เพิกถอนการยกให้หรือไม่ คดีไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำไปให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเช่า จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสามซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสามและผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้าง และโต้แย้งกันสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสามเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๓๑๙ เลขที่ ๓๒๓ และเลขที่ ๓๒๔ เมื่อประมาณปี ๒๔๘๔ เจ้าของที่ดินเดิมได้ยกที่ดินบางส่วนให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพื่อใช้ก่อสร้างชานชาลาและสถานีรถไฟ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างชานชาลาและสถานีรถไฟ กลับนำที่ดินดังกล่าว ไปให้เช่า อันเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ในการยกที่ดินให้ และผู้ถูกฟ้องคดีได้นำที่ดินดังกล่าวไปรวมกับที่ดินแปลงอื่นและออกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๖๖ จึงเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๗๑๖๖ กับให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า การยกที่ดินให้ไม่มีเงื่อนไขจำกัดการใช้ประโยชน์และไม่มีข้อตกลงการขอคืนที่ดิน ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรถไฟ การนำที่ดินหรือทรัพย์สินของการรถไฟออกให้บุคคลอื่นเช่าก็เป็นการดำเนินการภายใต้อำนาจกฎหมาย เห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่าสัญญาทางปกครองหมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลผู้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อพิจารณาข้อตกลงหรือเงื่อนไขในการยกให้ระหว่างเจ้าของที่ดินเดิมกับผู้ถูกฟ้องคดี แม้จะมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สาระสำคัญเป็นเพียงการอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งตามข้อตกลงในการให้ที่ดินนี้ เป็นกรณีที่ผู้ให้มุ่งผูกพันตนกับผู้ถูกฟ้องคดีด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ข้อตกลงในการอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นข้อตกลงทางแพ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามบทนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใดเมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับข้อตกลงในการอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองของผู้ถูกฟ้องคดี คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางชวนพิศ ชมไพบูลย์ ที่ ๑ นางสาวแขไข แก้วนารายณ์ ในฐานะทายาทของนางทรัพย์ แก้วนารายณ์ ที่ ๒ นางสาวมาลี อนุประเสริฐ ที่ ๓ ผู้ฟ้องคดี การรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ