แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องและการพิจารณาคดีจึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ เป็นผลให้คดีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานะกรรมการตรวจสอบว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งการดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 มีวิธีพิเศษแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองคณะกรรมการดังกล่าวมิให้ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีได้โดยง่าย อันเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้อีกต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 157, 200
จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวอ้างในคดีนี้สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการตรวจสอบความผิดของโจทก์ซึ่งได้มีการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.1/2550 พยานหลักฐานอันเป็นมูลแห่งคดีนี้สืบเนื่องมาจากคดีดังกล่าวซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและสะดวกต่อการพิจารณา สมควรรอฟังผลของคดีดังกล่าวก่อน จึงมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้อง และจำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอคดีอาญาหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นคดีหลักมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อน
ระหว่างจำหน่ายคดีชั่วคราว จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย เรื่องเขตอำนาจศาล ตามคำร้องฉบับลงวันที่ 9 มกราคม 2551 โดยอ้างว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เพราะคดีอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ.2550 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์เป็นภริยาพันตำรวจโททักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 ถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 และโจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคาซื้อที่ดิน 4 แปลง ตั้งอยู่ที่ถนนเทียมร่วมมิตร ในราคา 772,000,000 บาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของพันตำรวจโททักษิณ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้แต่งตั้งจำเลยและบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 และจำเลยได้รับเลือกเป็นประธานกรรมการตรวจสอบดังกล่าว วันที่ 11 พฤษภาคม 2550 โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้กล่าวหาว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์และพันตำรวจโททักษิณให้ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเพื่อให้ต้องรับโทษในคดีอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 อันเนื่องมาจากการซื้อที่ดินจำนวน 4 แปลง ดังกล่าวข้างต้นของโจทก์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 157 และ 200 ต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2550 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ.2550 ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า เมื่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 มีผลใช้บังคับทำให้ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองชอบหรือไม่ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 มาตรา 3 มีความว่า “ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรสงสัยหรือในกรณีที่มีผู้เสียหายกล่าวหาว่ากรรมการตรวจสอบ หรืออนุกรรมการผู้ใด … กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา … ให้ถือว่ากรรมการตรวจสอบ หรืออนุกรรมการ เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 17 … แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 … และให้นำความในมาตรา 17 … แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ให้นำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแก่การฟ้องคดีและการพิจารณาคดีตามวรรคหนึ่ง โดยให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวด้วย” เห็นว่า บทกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องและการพิจารณาคดีจึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติมีผลใช้บังคับทันที นับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับในวันที่ 6 กันยายน 2550 เป็นต้นไป คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 ซึ่งกฎหมายให้ถือว่าจำเลยเป็นกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อกฎหมายที่แก้ไขมีผลใช้บังคับแล้วทำให้คดีของโจทก์อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นอีกต่อไป แม้ว่าโจทก์จะฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 มีผลใช้บังคับก็ตาม ที่โจทก์ฎีกาว่า แม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 จะมีผลใช้บังคับทันทีนับแต่วันที่ 6 กันยายน 2550 ก็มีผลใช้บังคับแก่คดีที่ฟ้องนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป แต่ไม่อาจใช้บังคับแก่คดีที่ได้ฟ้องไว้ก่อนวันที่ 6 กันยายน 2550 เพราะมิฉะนั้นจะมีผลย้อนหลังไปยกเลิกเพิกถอนการกระทำตามกฎหมายวิธีสบัญญัติที่ใช้อยู่เดิม เห็นว่า หลักกฎหมายที่ห้ามมีผลใช้บังคับย้อนหลังนั้นห้ามใช้บังคับย้อนหลังเฉพาะกฎหมายในส่วนที่เป็นสารบัญญัติเท่านั้น มิได้ห้ามในส่วนวิธีสบัญญัติด้วย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 10/1 ของประกาศฉบับดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ทันทีอันมีผลให้คดีของโจทก์ไม่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกต่อไป ที่โจทก์ฎีกาว่า การเปลี่ยนแปลงเขตอำนาจศาลดังเช่นกรณีนี้ไม่ตัดอำนาจศาลชั้นต้นที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีจนกว่าจะถึงที่สุดนั้น เห็นว่า เมื่อคดีของโจทก์อยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากคดีธรรมดา กล่าวคือ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 17 ที่บัญญัติว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภามีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากรรมการผู้ใด … กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการคำร้องขอตามวรรคหนึ่ง … ให้ยื่นต่อประธานวุฒิสภา เมื่อประธานวุฒิสภาได้รับคำร้องแล้ว ให้ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาพิพากษา
ในกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับคำร้อง กรรมการผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นมิได้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ยกคำร้องดังกล่าว …
การดำเนินคดีในชั้นศาลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ได้บัญญัติเรื่องการดำเนินคดีต่อกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ในหมวด 4 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 กล่าวคือ เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภาแล้ว ต้องเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน แล้วองค์คณะผู้พิพากษาแต่งตั้งบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน เป็นคณะกรรมการไต่สวน ทำหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและทำความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินคดีตามคำร้องขอ ในกรณีที่คณะกรรมการไต่สวนมีมติว่าข้อกล่าวหาอันเป็นคดีอาญาต่อกรรมการ ป.ป.ช. นั้น มีมูล คณะกรรมการไต่สวนก็ต้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งเอกสารไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป จะเห็นว่า การดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบ จำเลยในคดีนี้ที่กฎหมายถือว่าเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มีวิธีการเป็นพิเศษแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป ซึ่งเป็นการกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ คือ หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งรับคำร้อง กรรมการผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และในขณะเดียวกันก็เป็นบทคุ้มครองคณะกรรมการดังกล่าวมิให้ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีได้โดยง่ายอันเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อกระบวนพิจารณาในการดำเนินคดีแก่จำเลยแตกต่างไปจากคดีธรรมดาเช่นนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาข้ออื่นของโจทก์นอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน