คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8163/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยมีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันเป็นสัญญาจะซื้อขายโดยการวางมัดจำตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งมิได้กำหนดแบบไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ สัญญาจะซื้อจะขายเกิดขึ้นนับแต่เวลาที่โจทก์วางมัดจำ มิใช่เพิ่งเกิดในภายหลังเมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ เมื่อ ป.วิ.พ. มาตรา 94 จำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ฟ้องร้องกันนั้นจะต้องแสดงให้ปรากฏด้วยการนำสืบพยานเอกสาร จึงต้องห้ามนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่ได้นำมาแสดงแล้ว จึงไม่ตกอยู่ในบังคับข้อห้ามดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงจะหาสถาบันการเงินให้โจทก์กู้ยืมชำระหนี้คืนจำเลยโดยมีระยะเวลาผ่อนนาน 15 ปี ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,171,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับชำระเงินแต่ละงวด ค่าตกแต่งบ้าน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับแต่วันบอกเลิกสัญญา และค่าขาดประโยชน์เดือนละ 30,000 บาท นับแต่เวลาเดียวกันจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงิน 1,171,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า เมื่อสัญญาจะซื้อจะขาย ได้กำหนดข้อความเช่นนั้นไว้ชัดแจ้งแล้ว ศาลจะยอมรับฟังพยานบุคคลของโจทก์ที่นำสืบประกอบข้ออ้างว่าใบโฆษณา (ใบปลิว) ตารางราคาบ้านแบบลัดดากร (แอลอาร์ 044) ของจำเลย ระบุว่า “สามารถผ่อนชำระธนาคารปีที่ 1 – 15 เดือนละ 29,642 บาท” เพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่นำมาแสดงโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ได้หรือไม่ เห็นว่า กรณีนี้ โจทก์ตกลงจองซื้อที่ดินและบ้านแบบลัดดากร (แอลอาร์ 044) ตามใบโฆษณา (ใบปลิว) โดยวางเงินมัดจำไว้ 30,000 บาท ตามหนังสือจองที่ดิน และสำเนาใบเสร็จรับเงินตั้งแต่แวะเข้าชมโครงการลัดดารมย์ รัตนาธิเบศร์ของจำเลยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2538 หลังจากนั้นโจทก์และจำเลยจึงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขาย ขึ้นในวันที่ 19 มกราคม 2539 แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาก่อนิติสัมพันธ์กันเป็นสัญญาจะซื้อจะขายโดยการวางมัดจำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง ซึ่งมิได้กำหนดแบบไว้ว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยจึงเกิดขึ้นนับแต่เวลาที่โจทก์วางมัดจำไว้ มิใช่เพิ่งเกิดในภายหลังเมื่อมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ เช่นนี้ เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 บัญญัติว่า “เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลฯ” อันหมายความจำกัดเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดว่าข้อเท็จจริงในเรื่องที่ฟ้องร้องกันนั้นจะต้องแสดงให้ปรากฏด้วยการนำสืบพยานเอกสารจึงห้ามนำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารที่ได้นำมาแสดงแล้ว กรณีตามฟ้องจึงไม่ตกอยู่ในบังคับข้อห้ามดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจรับฟังพยานบุคคลที่โจทก์นำสืบประกอบข้ออ้าง ว่าจำเลยตกลงจะหาสถาบันการเงินให้โจทก์กู้ยืมชำระหนี้ส่วนที่เหลืออยู่คืนจำเลยโดยมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้นาน 15 ปีได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าธนาคารที่จำเลยติดต่อให้โจทก์กู้ไม่ยอมให้โจทก์ชำระหนี้ได้นานถึง 15 ปี เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านตามฟ้อง จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและริบเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ

Share