คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1807/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ต่อมาร้างกัน แต่ยังมิได้หย่าขาดจากกัน ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างร้างกันและแม้ยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมายก็ไม่เป็นสินสมรส เพราะเหตุว่าทรัพย์สินมิใช่ได้มาโดยการอยู่กินสมรสร่วมกัน หากเป็นโดยฝ่ายหนึ่งหามาได้ตามลำพังและแยกไว้เป็นส่วนตัวแล้ว (อ้างฎีกาที่ 1235/2494, 991/2501) เมื่อไม่เป็นสินสมรส จำเลยก็มีสิทธิยกให้โดยเสน่หาได้ โดยไม่จำต้องรับความยินยอมจากโจทก์ผู้เป็นภริยาก่อน
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าพันบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คงฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และในการวินิจฉัยปัญหานี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่ข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่าห้องพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างร้างกันหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยถึง ศาลฎีกาจึงยังมิอาจที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายตามฎีกาจำเลยได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่าห้องพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างโจทก์จำเลยร้างกันหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันโดยแต่งงานเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ โจทก์จำเลยร่วมกันเช่าที่ธรณีสงฆ์ปลูกห้องแถว ๓ ห้อง ราคา ๓,๐๐๐ บาท จำเลยทำนิติกรรมยกห้อง ๓ ห้อง อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลยนี้ให้นายประชานายประวิทย์และนางสาวอรุณ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการให้ ฯลฯ
จำเลยให้การว่า โจทก์ทิ้งร้างจำเลยไป ไม่เคยกลับมาอยู่กินร่วมกันจน ๒๐ ปีเศษแล้ว จำเลยจดทะเบียนสมรสกับนางง้อ และร่วมกันปลูกห้องดังกล่าว แล้วยกให้บุคคลทั้งสามดังกล่าว
ศาลชั้นต้นหมายเรียกบุคคลทั้งสามดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วม และจำเลยร่วมให้การอย่างเดียวกับจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการให้ ฯลฯ
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมทั้งสามฎีกา ในชั้นฎีกามีเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นสั่งรับ
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ต่อมาได้ร้างกัน แต่ยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย ปัญหาจึงมีว่า ห้องพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างร้างกันหรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์ที่ได้มาในระหว่างร้างกัน แม้ยังมิได้หย่าขาดจากกันตามกฎหมาย ก็ไม่เป็นสินสมรส เพราะเหตุว่าทรัพย์นั้นมิใช่ได้มาโดยการอยู่กินสมรสร่วมกัน หากเป็นโดยฝ่ายหนึ่งหามาได้ตามลำพัง และแยกไว้เป็นส่วนตัวแล้ว ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๓๕/๒๔๙๔, และคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๙๑/๒๕๐๑ เมื่อไม่เป็นสินสมรส จำเลยก็มีสิทธิยกให้โดยเสน่หาได้ โดยไม่จำต้องรับความยินยอมจากโจทก์เป็นภริยาก่อน โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอน แต่คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าพันบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง คงฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย และการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน แต่ข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่าห้องพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างร้างกันหรือไม่นี้ ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยถึง
ศาลฎีกาจึงยังมิอาจที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่าห้องพิพาทเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างโจทก์จำเลยร้างกันหรือไม่ แล้วพิพากษาใหม่ ตามรูปคดี

Share