แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แผงลอยที่ปลูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนเข้าประกอบการค้าชั่วคราวนั้น แม้ภายหลังผู้เช่าแผงลอยจะมุงหลังคาสังกะสี ตีเพดาน-ขึ้น ก็ไม่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยที่ถาวร การที่ผู้เช่าเข้าอยู่อาศัยและเทศบาลออกทะเบียนสำมะโนครัวให้ ก็ไม่ได้หมายความรับรองว่าแผงลอยเป็นอาคาร จึงไม่เป็นเคหะตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯ
จำเลยที่ 1 ปลูกแผงลอยในที่ดินของโจทก์แล้วให้จำลยที่ 2 เช่า หากต่อมาจำเลยท 1 ไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จะยกสิทธิการเช่าที่โจทก์มิได้รู้เห็นด้วยขึ้นยันโจทก์ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 อยู่ในแผงลอยได้ก็เนื่องจากอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ดูแลรักษาที่ดินราชพัสดุทรัพย์สินของแผ่นดิน หมายเลขที่ ๕๓๙๙ ซึ่งใช้ตั้งสถานีตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีโดยโจทก์ที่ ๒ – ๓ เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๒ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี ให้จำเลยที่ ๑ อาศัยที่ดินบางส่วนสร้างแผงลอย โดยจำเลยที่ ๒ กับพวกเป็นผู้ออกเงินค่าสร้าง แล้วยกแผงลอยให้เป็นกรรมสิทธิแก่จำเลยที่ ๑ แล้วจำเลยที่ ๒ กับพวกอาศัยแผงลอยดังกล่าวทำาการค้า โดยเฉพาะจำเลยที่ ๒ เข้าอาศัยในแผงลอยหมายเลข ๖ และ ๗ ทำการขายอาหาร บัดนี้ ทางราชการตำรวจต้องการที่ดินดังกล่าวเพื่อใช้ในราชการ ได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อแผงลอยออกไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ว่ารื้อไม่ได้เพราะจำเลยที่ ๒ กับพวกไม่ยอมออก และจำเลยที่ ๒ ขัดขืน จึงฟ้องบังคับให้จำเลยที่ ๑ พร้อมบริวารรื้อแผงลอยออกไป ขับไล่จำเลยที่ ๒ กับบริวารออกไปจากแผงลอยหมายเลข ๖,๗ และที่ดินของโจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่พิพาทเป็นของใครไม่ทราบ เมื่อ ๑๐ ปีมานี้ นายกเทศบาลเมืองราชบุรีได้สร้างโรงเรือนขึ้นโดยรับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ไม่ใช่แผงลอย แล้วจำเลยเช่าอยู่เป็นที่อาศัยมาจนทุกวันนี้ ไม่ใช่อาศัย ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯ และว่าเป็นคดีมโนสาเร่ โจทก์ฟ้องผิดศาล
ในวันนัดชี้สองสถาน จำเลยที่ ๑ รับว่าพร้อมด้วยบริวารยอมรื้อแผงลอยทั้งหมดออกไปจากที่ดินของโจทก์ ไม่ต่อสู้คดีและเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ คงดำเนินการพิจารณาเฉพาะจำเลยที่ ๒ ต่อไป
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุ แผงลอยสร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว ไม่อยู่ในลักษณะถาวรจึงไม่เป็นเคหะ ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความคุ้มครอง โจทก์ฟ้องเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลจังหวัดราชบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ยอมออกจากที่พิพาท จำเลยที่ ๒ ก็ไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินโจทก์ พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ พร้อมบริวารรื้อแผงลอยไปจากที่ดินโจทก์ ขับไล่จำเลยที่ ๒ และบริวารออกจากแผงลอยหมายเลข ๖,๗ และออกจากที่ดินโจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในครั้งแรกเทศบาลเมืองราชบุรีขออาศัยที่ว่างของราชพัสดุปลูกแผงลอยเพื่อให้คนเข้ามาขายของเป็นการชั่วคราว และปรากฎตามบันทึกของศาลชั้นต้นเมื่อไปดูที่พิพาทว่า ห้องของจำเลยที่ ๒ พื้นลาดซีเมนต์ หลังคามุงสังกะสี ตีเพดานด้วยไม้ยางเพียงกลางห้อง หน้าแผงมีฝาทำด้วยสังกะสี ยกขึ้นเป็นหลังคา ขณะปิดร้านก็ปิดลงมาได้ ไม่มีห้องนอน เมื่อปิดร้านแล้วก็หลับนอนบนโต๊ะ เก้าอี้ ที่คนมานั่งรับประทานอาหาร ส่วนแผงลอยทางด้านเหนือติดกับแผงลอยของจำเลยที่ ๒ ไปอีก ๓ ห้อง เป็นร้านโปร่ง ๆ กั้นหลังคาด้วยผ้าใบไม่มีฝากั้น มีไม้ปักแบ่งเป็นห้องเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าแผงลอยเหล่านี้ปลูกสร้างขึ้นเพื่อให้ประกอบการค้าชั่วคราวเท่านั้น แม้ภายหลังจำเลยที่ ๒ จะมุงหลังคาสังกะสีและตีเพดานขึ้น ก็ไม่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยที่ถาวรแต่อย่างใด และการที่เทศบาลเมืองราชบุรีออกทะเบียนสำมะโนครัวให้ ก็ไม่ได้หมายความรับรองว่าแผงลอยนี้เป็นอาคาร จึงไม่เป็นเคหะตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ฯ ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความคุ้มครอง ส่วนในเรื่องที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความต่างกับฟ้อง โดยจำเลยที่ ๒ เช่าห้องพิพาทจากจำเลยที่ ๑
ไม่ได้อาศัยโจทก์นั้น หากจะมีการเช่ากันจริง ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ โจทก์มิได้รู้เห็นด้วย ทั้งไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๘ จำเลยที่ ๒ จะยกสิทธิการเช่านี้ขึ้นยันโจทก์ไม่ได้ และการที่จำเลยที่ ๒ อยู่ในพิพาทได้ ก็อาศัยสิทธิของจำเลยที่ ๑ ซึ่งอาศัยโจทก์นั่นเอง ข้อเท็จจริงไม่ต่างกันฟ้อง
พิพากษายืน.