แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าเป็นการให้ที่มีค่าตอบแทนได้ ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการให้มีค่าตอบแทน เป็นประเด็นต่อเนื่องที่รวมอยู่ในประเด็นหลักเพราะโจทก์ฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนทรัพย์ที่เป็นสินสมรสที่พันเอก (พิเศษ) พ.ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ศาลจึงต้องวินิจฉัยในที่สุดว่าโจทก์เพิกถอนได้หรือไม่ การวินิจฉัยว่าเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนและตามหน้าที่ธรรมจรรยาจึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดิน และการจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 581, 583, 585, 589, 590, 591, 625, 1149, 1152, 1153 ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี รวม 10 แปลง ระหว่าง พันเอก (พิเศษ) พล กับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมการจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2539 ตกเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันโจทก์ และให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินและนิติกรรมการจำนองที่ดินดังกล่าว โดยให้เพิกถอนชื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ออกจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้ง 10 แปลงดังกล่าว แล้วใส่ชื่อพันเอก (พิเศษ) พล เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ตามเดิม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันโอนสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้ง 10 แปลง กลับมาเป็นชื่อพันเอก (พิเศษ) พล โดยปราศจากภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น โดยจำเลยทั้งสามออกค่าใช้จ่ายเอง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถโอนที่ดินทั้ง 10 แปลงดังกล่าว กลับมาตามเดิมไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 218,756,404.10 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ในต้นเงิน 201,937,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์ครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท และแทนจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า หนังสือสัญญาให้ที่ดิน ระบุว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการให้มีค่าตอบแทน เป็นการรับฟังพยานบุคคลแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องถอนคืนการให้ ไม่ใช่คดีฟ้องร้องให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ จำเลยที่ 1 มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าเป็นการให้ที่มีค่าตอบแทนได้ ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการให้มีค่าตอบแทน เป็นประเด็นต่อเนื่องที่รวมอยู่ในประเด็นหลักเพราะโจทก์ฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนทรัพย์ที่เป็นสินสมรสที่พันเอก (พิเศษ) พลให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ศาลต้องวินิจฉัยในที่สุดว่าโจทก์เพิกถอนได้หรือไม่ จึงมิใช่เป็นการพิพากษานอกประเด็น ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียนให้และการจำนองหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสที่พันเอก (พิเศษ) พล และโจทก์ต้องจัดการร่วมกัน แต่พันเอก (พิเศษ) พล จดทะเบียนยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยที่ 1 รับโอนทั้งที่เจ้าหน้าที่ที่ดินแจ้งให้ทราบแล้วว่าโจทก์มิได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมถือว่ารับโอนโดยไม่สุจริต ส่วนจำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า พันเอก (พิเศษ) พล ประกอบธุรกิจค้าขายที่ดิน ทำกิจการบ้านจัดสรร ทำธุรกิจผลไม้กระป๋องส่งออก โดยกู้เงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 100 ล้านบาท และกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 2,000 ล้านบาท นำที่ดิน 52 แปลง จดทะเบียนจำนองเป็นประกัน ตามสัญญากู้ สัญญาจำนอง ต่อมาพันเอก (พิเศษ) พล ไม่สามารถชำระหนี้ให้ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนั้นมีหนี้อยู่ประมาณ 100 ล้านบาทเศษได้ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เสนอให้เปลี่ยนตัวลูกหนี้ พันเอก (พิเศษ) พล ขอให้จำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้แทน จำเลยที่ 1 จึงตกลงเข้าทำสัญญารับสภาพหนี้แล้วเข้าเป็นผู้กู้แทน นำเงินชำระหนี้ของพันเอก (พิเศษ) พล และหนี้บางส่วนของบริษัทชะอำไพน์แอปเปิ้ลแคนเนอรี่ จำกัด ที่มีอยู่กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) คืนโฉนดที่ดินที่จำนองเป็นประกันให้บางส่วนรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย พันเอก (พิเศษ) พล จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และมีนางกมลธร พี่สะใภ้ของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า ทราบว่าเมื่อปลายปี 2537 จำเลยที่ 1 ออกเงินไถ่ถอนที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นประมาณ 50 กว่าแปลง เพื่อตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ออกเงินไถ่ถอนและช่วยออกเงินหาเสียงเลือกตั้ง พันเอก (พิเศษ) พล ยกที่ดิน 10 แปลง ให้จำเลยที่ 1 กับมีนายประสาธน์ ซึ่งเป็นคนขับรถและเฝ้าบ้านของพันเอก (พิเศษ) พล เป็นพยานเบิกความว่า ระหว่างขับรถพาพันเอก (พิเศษ) พล กับจำเลยที่ 1 ไปธนาคารได้ยินพันเอก (พิเศษ) พล ปรึกษากับจำเลยที่ 1 ถึงการไถ่ถอนจำนองที่ดิน เงินที่ไถ่ถอนเป็นของจำเลยที่ 1 พันเอก (พิเศษ) พล พูดว่าหากไถ่ถอนจำนองแล้วจะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีสัญญากู้ สัญญาจำนอง บันทึกสรุปภาระหนี้สินของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สัญญาจำนอง มาแสดง เอกสารดังกล่าวระบุว่าพันเอก (พิเศษ) พล กู้เงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนองที่ดิน 52 แปลง เป็นประกัน ต่อมามีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากพันเอก (พิเศษ) พล เป็นจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 นำหลักทรัพย์เข้าจำนองเป็นประกันหนี้ของพันเอก (พิเศษ) พล ที่มีอยู่กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 130 ล้านบาท ต่อมาธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ไถ่ถอนจำนองที่ดินให้บางส่วนซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีสำเนาเช็คหรือหลักฐานการชำระเงินให้ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) มาแสดง แสดงให้เห็นว่าที่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยจำเลยที่ 1 เข้าเป็นผู้กู้ชำระหนี้แทนโดยใช้หลักประกันเดิมและจำเลยที่ 1 นำที่ดินเข้าจำนองเป็นประกันเพิ่ม ที่ต้องจำนองเป็นประกันเพิ่มอีก 130 ล้านบาท เชื่อว่าเพื่อให้เพียงพอกับยอดหนี้ที่มีอยู่ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้าไปรับชำระหนี้แทนพันเอก (พิเศษ) พล ประมาณ 130 ล้านบาทจริง อีกทั้งหากไม่มีการชำระหนี้ก็เป็นไปไม่ได้ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะไถ่ถอนหลักประกันให้ คำเบิกความจำเลยที่ 1 นางกมลธรและนายประสาธน์สอดคล้องเชื่อมโยงรับกับเอกสาร จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ไถ่ถอนและคืนหลักประกันให้ เป็นเพราะจำเลยที่ 1 เข้ารับสภาพหนี้และชำระหนี้แทนพันเอก (พิเศษ) พล และที่พันเอก (พิเศษ) พล จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ได้เป็นเพราะถูกฉ้อฉล แต่เป็นเพราะจำเลยที่ 1 เข้ารับสภาพหนี้และชำระหนี้ที่มีอยู่กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) แทน โจทก์เบิกความว่า ระหว่างอยู่กินกับพันเอก (พิเศษ) พล ได้ร่วมกันทำธุรกิจเกี่ยวกับฟาร์มไร่สัปปะรด ค้าขายที่ดินซื้อที่ดิน ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินที่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี รวมประมาณ 12,000 ไร่ และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า พันเอก (พิเศษ) พล ทยอยซื้อที่ดินจำนวนหลายหมื่นไร่ ได้ความจากเอกสารหมาย ล.30 ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวพันเอก (พิเศษ) พล มีหนี้สินที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 130 ล้านบาท และได้ความจากคำเบิกความจำเลยที่ 1 ว่า พันเอก (พิเศษ) พล เป็นหนี้เงินกู้จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณ 2,000 ล้านบาท แสดงว่าพันเอก (พิเศษ) พล มีทรัพย์สินที่เป็นที่ดินจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีหนี้สินจำนวนมากเช่นกัน โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านรับว่า ก่อนหน้านี้พันเอก (พิเศษ) พล เคยจดทะเบียนยกที่ดินที่ไม่ติดภาระผูกพันและมีมูลค่าสูงกว่าที่ยกให้จำเลยที่ 1 ให้แก่บุตรของโจทก์มาแล้วหลายคน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของพันเอก (พิเศษ) พล เช่นกัน การที่พันเอก (พิเศษ) พล มีทรัพย์สินเป็นที่ดินประมาณ 20,000 ไร่ แม้มีหนี้สินอยู่บ้าง ยกที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 359 ไร่ ให้จำเลยที่ 1 เพื่อตอบแทนการที่จำเลยที่ 1 ออกเงินชำระหนี้ให้ ทั้งที่ดินที่ยกให้ก็เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่จำเลยที่ 1 ออกเงินชำระหนี้ เมื่อพันเอก (พิเศษ) พล และจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์เป็นบิดาและบุตรีกันย่อมทำให้นอกจากเป็นการให้โดยมีค่าตอบแทนแล้วยังถือเป็นเรื่องให้โดยเสน่หาแก่บุตรีที่เข้าช่วยเหลือทางธุรกิจรวมอยู่ในตัวด้วยแม้โจทก์จะอ้างว่า พันเอก (พิเศษ) พล มีหนี้สินจำนวนมาก แต่ก็ได้ความจากสำเนาคำร้องที่โจทก์เองยื่นขอให้ศาลจังหวัดนครสวรรค์แต่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของพันเอก (พิเศษ) พล ว่าทรัพย์มรดกของพันเอก (พิเศษ) พล มีราคาประมาณ 1,781,722,000 บาท โจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า คำร้อง ไม่รวมถึงที่ดินพิพาทในคดีนี้ แสดงว่าพันเอก (พิเศษ) พล ยังมีที่ดินเหลืออีกร่วม 20,000 ไร่ ทรัพย์สินที่เหลือมีมูลค่าถึงกว่า 1,700 ล้านบาท แสดงถึงฐานะและความเป็นอยู่ของพันเอก (พิเศษ) พล ที่มั่นคงไม่ขาดแคลน ที่ดินที่พันเอก (พิเศษ) พล ยกให้แก่จำเลยที่ 1 คิดเป็นจำนวนไม่ถึงร้อยละ 2 ของที่ดินที่มีอยู่ เมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่พันเอก (พิเศษ) พล ยกให้บุตรโจทก์ทั้งสามคนก่อนหน้านี้ และเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินที่พันเอก (พิเศษ) พล มีอยู่ร่วมกันกับโจทก์แล้ว ส่วนที่ยกให้จำเลยที่ 1 นับเป็นทรัพย์สินส่วนน้อย การให้โดยเสน่หาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นไปตามหน้าที่ธรรมจรรยาที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว แม้นิติกรรมการให้ดังกล่าวจะไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เพราะเข้าข้อยกเว้นให้พันเอก (พิเศษ) พล สามารถกระทำได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตามมาตรา 1476 (5) กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกต่อไป เพราะไม่มีผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ