แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าตลอดมา เมื่อ ช.ถึงแก่กรรม โจทก์ก็ไม่ได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือโดยบอกกล่าวไปยังทายาทของ ช. ว่าจะไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทของช. ต่อไป ดังนั้น แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเกินกว่า10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหายื่นคำร้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ช. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง สืบตัวโจทก์ได้ 1 คน แล้วโจทก์ขอถอนฟ้อง จะถือว่าจำเลยยื่นคำร้องเท็จและเบิกความเท็จไม่ได้ และไม่ปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่ไม่สมควรประการอื่น จึงไม่มีเหตุที่จะถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ช. ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายช้อย ยางแดง ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2519ขณะถึงแก่กรรมนายช้อย ยางแดง มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมเด็กชายวิศณุ อังกุระ นายพวง ยางแดง นายสง่า ยางแดง และนายสงวน ยางแดง (โจทก์) ตามโฉนดเลขที่ 2648 เนื้อที่ 52 ไร่1 งาน 4 ตารางวา ผู้มีชื่อในโฉนดแต่ละคนได้แบ่งกันครอบครองเป็นสัดส่วน โดยใช้คันนาเป็นขอบเขตที่แน่นอนมาช้านานแล้ว เมื่อประมาณ40 ปีมานี้ โจทก์เคยเช่าที่ดินเฉพาะส่วนของนายช้อย ยางแดงทำกินและปลูกบ้านอยู่ในที่ดินส่วนนี้ด้วย เมื่อเช่าได้ 6 ปีโจทก์ได้ขอซื้อที่ดินดังกล่าว นายช้อย ยางแดง ตกลงขายให้โจทก์ในราคาไร่ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน 13,000 บาท เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วโจทก์ก็เลิกเช่าและได้เปลี่ยนการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 34 ปีแล้ว ที่ดินเฉพาะส่วนของนายช้อย ยางแดง เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2528 จำเลยได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อย ยางแดง อันเป็นเท็จว่าทายาทบางคนของนายช้อยหายสาบสูญบางคนเป็นผู้เยาว์ และยังเบิกความเท็จว่า นายช้อยมีหน้าที่มีสิทธิรับมรดกเพียงสองคน และจำเลยได้รับความยินยอมจากทายาทให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อย ซึ่งความจริงทายาทของนายช้อยมิได้หายสาบสูญ ทายาทของนายช้อยมีมากกว่าที่จำเลยเบิกความถึงและทายาทของนายช้อยมิได้ให้ความยินยอมแก่จำเลย การร้องขอเท็จและเบิกความเท็จดังกล่าวเป็นเหตุให้ศาลสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อย ยางแดง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1459/2528 ของศาลชั้นต้น การยื่นคำร้องขออันเป็นเท็จและเบิกความเท็จดังกล่าวแสดงว่าจำเลยเป็นบุคคลไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้สิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกของจำเลยขาดอายุความมรดกแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์ได้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเฉพาะส่วนของนายช้อย ยางแดง ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 2648 ตามฟ้อง โดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย ให้ถอนชื่อนายช้อย ยางแดง ออกจากโฉนดที่ดินดังกล่าวข้างต้น แล้วใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต่อไปและพิพากษาให้สิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกของจำเลยทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทนายช้อย ยางแดง ขาดอายุความมรดกแล้วให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1459/2528 ของศาลชั้นต้น และห้ามจำเลยมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า ที่ดินเฉพาะส่วนของนายช้อย ยางแดง นั้นหลังจากนายช้อย ยางแดง ถึงแก่กรรมแล้ว นางกร่าง ยางแดงภรรยาของโจทก์ได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยและมารดาจึงร้องคัดค้าน และตัวโจทก์และผู้รับมอบอำนาจในคดีนี้ซึ่งเป็นบุตรก็ได้เข้าเบิกความเป็นพยานให้นางกร่าง ยางแดง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายกคำร้องของนางกร่าง ยางแดง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 495/2520 ของศาลชั้นต้น เมื่อปลายปี 2522 โดยศาลเชื่อว่าผู้ร้องไม่ได้ครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของคงครอบครองเพียงอาศัยสิทธิการเช่าเท่านั้น และขณะนี้ยังอยู่ในอายุความบังคับคดีและอยู่ในความปกครองของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายช้อย ยางแดง ฉะนั้น โจทก์จึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ที่ดินเฉพาะส่วนของนายช้อย ยางแดง ขณะนี้ยังอยู่ในความปกครองของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของนายช้อย ยางแดง ซึ่งจำเลยกำลังดำเนินการเพื่อแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทของนายช้อย ยางแดง จำเลยยังไม่ได้ประพฤติผิดหรือบกพร่องแต่ประการใด จึงยังไม่ควรถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อย ยางแดง ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์ได้ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2648 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอบางใหญ่ (บางบัวทอง) จังหวัดนนทบุรี ตามภาพถ่ายใบแทนโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 ติดต่อกันมาประมาณ 40 ปี มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่โจทก์มีนางสะอาด โตเข็ม ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ นางกร่าง ยางแดงภรรยาโจทก์เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ที่ดินของนายช้อยจำนวน 13 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันตก เดิมโจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากนายช้อยทำนา เมื่อเช่าทำนาได้ 6 ปี โจทก์ขอซื้อที่ดินที่เช่าจากนายช้อย นายช้อยตกลงขายให้ราคาไร่ละ 1,000 บาท รวมเป็นเงิน13,000 บาท ยังไม่ได้ชำระราคาที่ดินเพราะเมื่อนัดโอนกรรมสิทธิ์กันนายช้อยไม่ไปสำนักงานที่ดินตามนัด เมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้วนายช้อยได้จำนองที่ดินไว้กับนายสง่า ยังไม่ได้ไถ่ถอนจำนองต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2519 นายช้อยได้ถึงแก่กรรม โจทก์ได้ครอบครองทำกินในที่ดินพิพาทอย่างเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบันนอกจากนี้โจทก์มีนางสมพิศ ยมไธสง และนายทองสุข ยางแดง เป็นพยานเบิกความว่า นาที่โจทก์ทำกับนาที่จำเลยทำอยู่ติดกันโจทก์ซื้อนามาจากนายช้อย ปรากฏตามแผนที่เอกสารหมาย จ.7 นายช้อยไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยนางแก้ว ยางแดง เป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินเฉพาะส่วนของนายช้อยมีจำนวน 13 ไร่ ก่อนถึงแก่กรรมนายช้อยได้จำนองที่ดินไว้แก่นายสง่า ขณะนี้ยังไม่มีการไถ่จำนองโจทก์และจำเลยมีสิทธิได้รับมรดกของนายช้อย โจทก์เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาททำนาตลอดมาก่อนนายช้อยถึงแก่กรรม นายช้อยได้มาเก็บค่าเช่าจากโจทก์หลังจากนายช้อยถึงแก่กรรมแล้ว ไม่มีการเก็บค่าเช่า โจทก์บอกว่าได้ซื้อที่ดินแปลงนี้ไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำเบิกความพยานโจทก์ดังกล่าวเห็นได้ว่า นายช้อยยังมิได้ตกลงขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์ การที่นายช้อยจดทะเบียนจำนองไว้แก่นายสง่าแสดงว่านายช้อยยังยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตนอยู่และทวงค่าเช่านาจากโจทก์อยู่เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั้งหลายว่านายช้อยยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายช้อยไม่ได้ขายและมอบที่พิพาทให้โจทก์ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของโจทก์คงครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าตลอดมา เมื่อนายช้อยถึงแก่กรรม โจทก์ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่าไม่ได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังทายาทคนอื่นของนายช้อยหรือจำเลยว่า โจทก์จะไม่ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของนายช้อยหรือจำเลยต่อไปดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเกินกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม โจทก์ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ถือได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทแทนโดยอาศัยสิทธิของนายช้อยผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ซึ่งต่อมาเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทและจำเลยฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการที่สองว่า มีเหตุสมควรถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อยหรือไม่ โจทก์อ้างเหตุว่าจำเลยยื่นคำร้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อยโดยโจทก์ฟ้องจำเลยตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 431/2529 ของศาลชั้นต้นปรากฏว่าในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง สืบตัวโจทก์ได้ 1 คน แล้วโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยตามคำร้องลงวันที่7 กุมภาพันธ์ 2529 จะถือว่าจำเลยยื่นคำร้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อยยังไม่ได้โจทก์และจำเลยต่างเป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายช้อย จำเลยจึงมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อยได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อยแล้ว พยานโจทก์ที่นำสืบมาไม่ปรากฏเหตุว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือผู้จัดการมรดกประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทุจริต หรือเป็นที่ประจักษ์ว่าผู้จัดการมรดกไม่มีความสามารถในการจัดมรดกของนายช้อยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727, 1731 จึงยังไม่มีเหตุที่จะถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายช้อยผู้ถึงแก่กรรม สรุปแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน