คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10385/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหาย เป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าผู้เสียหายได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารไปแล้ว เป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การที่จำเลยนำแบบพิมพ์ใบถอนเงินของธนาคารมาเขียนชื่อ ศ. ในช่องชื่อบัญชี เขียนเลขที่บัญชี จำนวนเงิน และลงลายมือชื่อปลอมของ ศ. ในช่องผู้รับเงินและในช่องผู้ถอนเงิน แล้วนำไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นใบถอนเงินที่แท้จริงจึงจ่ายเงินให้จำเลยไป เป็นการทำเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้งสองฉบับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2540 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 ตุลาคม2540 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ โดยกรอกข้อความว่า นางสาวศิริพันธ์ ตำหนิดี บัญชีเลขที่ 0010492924 ขอถอนเงินจำนวน 70,000 บาท และลงลายมือชื่อปลอมของนางสาวศิริพันธ์ ตำหนิดี ในช่องลงชื่อผู้รับเงินและผู้ถอนเงิน เพื่อให้ผู้พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2540 เวลากลางวันจำเลยใช้ใบถอนเงินปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าวประจำสาขาอยุธยา เพื่อเป็นหลักฐานในการถอนเงินในบัญชีเงินฝากของนางสาวศิริพันธ์ไปเป็นจำนวน 70,000 บาท และเมื่อระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2541 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยปลอมใบถอนเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิโดยกรอกข้อความว่านางสาวศิริพันธ์ ตำหนิดี บัญชีเลขที่0010492924 ขอถอนเงินจำนวน 40,000 บาท และลงลายมือชื่อปลอมของนางสาวศิริพันธ์ในช่องลงชื่อผู้รับเงินและผู้ถอนเงินเพื่อให้ผู้พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยใช้ใบถอนเงินปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าวประจำสาขาอยุธยา เพื่อเป็นหลักฐานในการถอนเงินในบัญชีเงินฝากของนางสาวศิริพันธ์ไปเป็นจำนวน 40,000 บาท ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสาวศิริพันธ์ ธนาคารและพนักงานของธนาคารดังกล่าวและประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33, 91, 264, 265 และ 268 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,265 และ 268 (ที่ถูก 265 และ 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265) เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่ละกระทงลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง เป็นความผิด 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี ริบใบถอนเงินของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ใบถอนเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่จำเลยนำไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าวประจำสาขาอยุธยา เป็นเอกสารสิทธิหรือไม่ เห็นว่า ใบถอนเงินที่จำเลยทำปลอมขึ้นและนำไปใช้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของผู้เสียหายดังกล่าวเป็นหลักฐานที่ใช้แสดงว่าผู้เสียหายได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารไปแล้ว ใบถอนเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารอันก่อให้เกิดสิทธิในการรับเงินจากธนาคาร จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(9) การที่จำเลยได้นำแบบพิมพ์ใบถอนเงินของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มากรอกข้อความโดยเขียนชื่อนางสาวศิริพันธ์ตำหนิดี ในช่องชื่อบัญชี เขียนเลขที่บัญชี จำนวนเงิน และลงลายมือชื่อปลอมของนางสาวศิริพันธ์ในช่องผู้รับเงินและในช่องผู้ถอนเงิน แล้วนำใบถอนเงินไปยื่นต่อพนักงานของธนาคารดังกล่าว ประจำสาขาอยุธยา ซึ่งหลงเชื่อว่าเป็นใบถอนเงินที่แท้จริงจึงจ่ายเงินให้จำเลยไป ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำเอกสารสิทธิปลอมขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่นางสาวศิริพันธ์ ธนาคารและพนักงานของธนาคารแล้ว จึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมทั้งสองฉบับไม่ใช่เป็นเพียงการปลอมเอกสารธรรมดาดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ใบถอนเงินดังกล่าวเป็นเอกสารสิทธิจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 2 กระทง กระทงละ 2,000 บาท รวมปรับ 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ระหว่างรอการลงโทษให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share