คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2153/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพลตำรวจออกปฏิบัติการตามแผนกวาดล้างโจรผู้ร้ายในฤดูแล้ง ระหว่างปฏิบัติการ ผู้บังคับกองพบจำเลยกำลังเมาสุราพกปืนยืนขวางถนนอยู่จึงดึงตัวขึ้นรถเพราะเห็นว่าถ้าปล่อยไว้อาจจะไปก่อเหตุ วุ่นวายเดือดร้อน ระหว่างทางจำเลยเอาลูกระเบิดที่มีอยู่ถอดสลักนิรภัยโยนเข้าไปใต้ที่นั่งของผู้บังคับกองแล้วจำเลยกระโดดหนี ลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้ผู้บังคับกองกับพวกบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุกระทำการตามหน้าที่
จำเลยมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต และใช้ลูกระเบิดนั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน เป็นความผิดสองกระทง และเมื่อจำเลยได้ใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวไปเสียก่อนวันที่พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2518 ซึ่งยกเว้นโทษแก่ผู้มีวัตถุระเบิดฯ ไว้ในความครอบครองที่นำไปมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงไม่มีวัตถุระเบิดที่จะส่งมอบแก่นายทะเบียนได้ ย่อมไม่ได้รับยกเว้นโทษ
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง จำเลยรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ควรจะได้รับโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลดโทษเลยนั้น พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ขอให้ลงโทษจำคุกหนักขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งรับราชการเป็นตำรวจภูธรประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าเรือ บังอาจมีอาวุธปืนพกออโตเมติกขนาด .๓๘ ใช้ยิงได้ หมายเลขทะเบียน อ.ย.๔/๑๕๓๒ หนึ่งกระบอก พร้อมด้วยแม็กกาซีนและกระสุนปืน ๙ นัด มีลูกระเบิดขว้างชนิดสังหารแบบ วี.๔๐ หรือแบบ ๑๒ ซึ่งเป็นวัตถุระเบิดใช้เฉพาะแต่การสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต จำเลยได้บังอาจพกพาอาวุธปืนและลูกระเบิดดังกล่าวเข้าไปในหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุผล และจำเลยเสพสุราเมาครองสติไม่ได้ ประพฤติวุ่นวายอยู่บนทางสาธารณะ ขณะนั้นเองว่าที่พันตำรวจตรีศิริ ทองมี ผู้บังคับกองสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าเรือ พร้อมด้วยนายตำรวจและตำรวจอีกหลายคนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย นั่งรถยนต์จี๊พผ่านมาพบจำเลยกำลังเมาสุราและประพฤติวุ่นวาย จึงรับจำเลยมาเพื่อสอบสวนดำเนินคดีอาญา และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย มิให้จำเลยประพฤติวุ่นวายหรือก่อเหตุร้ายต่อไป อันเป็นการกระทำตามหน้าที่ ขณะนำจำเลยขึ้นรถยนต์จี๊พไปสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าเรือ จำเลยได้บังอาจใช้ลูกระเบิดที่มีอยู่ในครอบครอง ดึงสลักนิรภัยออกแล้วโยนลูกระเบิดเข้าไปใต้เบาะนั่งบนรถยนต์จี๊พซึ่งว่าที่พันตำรวจตรีศิริและร้อยตำรวจโทสมหมายนั่งอยู่ตอนหน้าแล้วจำเลยกระโดดรถหนี ทันใดนั้นเองลูกระเบิดได้ระเบิดขึ้น ทำให้รถยนต์จี๊พและเครื่องรับส่งวิทยุประจำรถเสียหาย ว่าที่พันตำรวจตรีศิริ ทองมี ได้รับบาดเจ็บสาหัส เท้าขวาแตกละเอียดต้องตัดขา ร้อยตำรวจโทสมหมายกับพวกบาดเจ็บ ทั้งนี้โดยจำเลยเจตนาจะฆ่าว่าที่พันตำรวจตรีศิริกับพวก หากแต่สะเก็ดระเบิดถูกอวัยวะส่วนไม่สำคัญ จึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย เหตุเกิดที่ตำบลท่าหลวงและตำบลจำปา อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙(๒), ๓๕๘, ๓๗๑, ๓๗๘, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๕๕, ๗๒, ๗๘; (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๕, ๘; (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ และขอให้คืนปืนพกและกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ ของกลางนอกนั้นให้ริบ
จำเลยให้การรับสารภาพเมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐, ๓๕๘, ๓๗๑, ๓๗๘, ๙๑ สำหรับมาตรา ๒๘๘, ๘๐ และมาตรา ๓๕๘ เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน ส่วนความผิดตามมาตรา ๓๗๑, ๓๗๘ ให้ลงโทษปรับกระทงละ ๑๐๐ บาท คำรับสารภาพของจำเลยเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ สำหรับความผิดข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นหนึ่งในสาม จำคุก ๘ ปี ๑๐ เดือน ๒๐ วัน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑, ๓๗๘ ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับกระทงละ ๕๐ บาทข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ปืนและกระสุนปืนคืนเจ้าของ ของกลางนอกนั้นให้ริบ ไม่ชำระค่าปรับ จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๒), ๘๐ แม้ฟังว่าจำเลยผิดมาตรา ๒๘๘, ๘๐ จำเลยควรจะได้รับโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลดโทษเลย เพราะจำเลยรับสารภาพไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีลูกระเบิดสำหรับใช้ในการสงครามไว้ในความครอบครองด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙(๒), ๘๐ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒, ๙๑ ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๑, ข้อ ๒ วางโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ให้เปลี่ยนเป็นโทษจำคุก ๕๐ ปี และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑, ๓๗๘ ปรับกระทงละ ๑๐๐ บาท และความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๕๕, ๗๘; (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๐๑ มาตรา ๘ จำคุก ๒ ปี รวมเป็นจำคุก ๕๒ ปี ปรับ ๒๐๐ บาท โดยไม่ลดโทษให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า (๑) โจทก์มิได้อุทธรณ์ว่าอย่าลดโทษให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ไม่ลดโทษแก่จำเลย เป็นการพิพากษาเกินคำขอ (๒) จำเลยไม่ผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน (๓) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๑, ๓๗๘ ปรับกระทงละ ๑๐๐ บาท ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่ลดโทษให้ เป็นการมิชอบ (๔) ความผิดฐานมีลูกระเบิด เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานพยายามฆ่า
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ว่าที่พันตำรวจตรีศิริเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ขณะออกตรวจท้องที่ได้พบจำเลยเมาสุราพกปืนยืนขวางถนนและเห็นว่าอาจจะก่อเหตุวุ่นวายเดือดร้อนขึ้นได้ แม้จะไม่แจ้งข้อหาและจับกุมจำเลยโดยตรง เพียงแต่สั่งให้จำเลยขึ้นรถเพื่อเอาตัวไป เป็นการควบคุมตัวไว้เพื่อป้องกันการก่อความวุ่นวายเดือดร้อน ก็เป็นการกระทำตามหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจะเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ก็ตาม ว่าที่พันตำรวจตรีศิริย่อมจะเอาตัวจำเลยไปควบคุมไว้ก่อนเพราะเหตุดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเพราะเหตุกระทำตามหน้าที่ ส่วนการที่จำเลยมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต เป็นความผิดกระทงหนึ่ง จำเลยใช้ลูกระเบิดนั้นโยนใส่เจ้าพนักงานตำรวจ แต่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ถึงตาย เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานอีกกระทงหนึ่ง และการที่จำเลยมีลูกระเบิดสำหรับใช้เฉพาะในการสงครามไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต เป็นความผิดก่อนที่มีพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๑๘ ใช้บังคับ เมื่อมีกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้ยกเว้นโทษแก่ผู้มีวัตถุระเบิดฯ ที่นำไปมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว แต่จำเลยได้ใช้วัตถุระเบิดนั้นไปเสียแล้วก่อนมีกฎหมายออกใช้บังคับ จำเลยไม่มีวัตถุระเบิดที่จะส่งมอบแก่นายทะเบียนท้องที่ จึงไม่ได้รับยกเว้นโทษ แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๓๗๑, ๓๗๘ นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะคู่ความมิได้อุทธรณ์ในความผิดสองกระทงนี้
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ลดโทษแก่จำเลย เป็นการพิพากษาเกินคำขอนั้น ปรากฏว่าโจทก์กล่าวในอุทธรณ์เป็นใจความว่า การกระทำของจำเลยเป็นพฤติการณ์ที่ร้ายแรง จำเลยปฏิเสธต่อสู้คดีโดยตลอด สืบประจักษ์พยานโจทก์ ๓ ปากแล้วจึงรับสารภาพ เพราะจำนนต่อหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ควรจะได้รับโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่ลดโทษเลย พอเข้าใจได้ว่าโจทก์ขอให้ลงโทษจำคุกหนักกว่าที่ศาลชั้นต้นลงโทษมา
พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ลดโทษจำคุกจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เพราะคำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง เป็นเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุก ๓๔ ปี ๘ เดือน ส่วนโทษปรับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share