แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในคดีเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่การหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 288
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ริบอาวุธมีดของกลาง ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ในวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายทำร้ายนายประสาน โดยชกต่อย และใช้อาวุธมีดของกลางฟันและแทงทำร้าย เป็นเหตุให้นายประสานถึงแก่ความตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ เอกสารหมาย จ.6 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ เบิกความเป็นพยานว่า ก่อนเกิดเหตุพยานนั่งดูภาพยนตร์กลางแปลงอยู่กับผู้ตาย ต่อมาจำเลยและนายเปี๊ยกเข้ามาหาเรื่องชกต่อยพยานกับผู้ตาย พยานกับผู้ตายสู้ไม่ได้จึงแยกกันวิ่งหนีไปคนละทาง จำเลยวิ่งไล่ตามพยาน แต่พยานหลบเข้าบ้านไปได้ ส่วนนายเปี๊ยกวิ่งไล่ตามผู้ตาย จนเช้าวันรุ่งขึ้นจึงมีผู้พบศพผู้ตายถูกฟันและแทงถึงแก่ความตายบริเวณใกล้จอภาพยนตร์ เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน แต่ได้ความว่าสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์พยานโจทก์กับผู้ตายนั่งชมภาพยนตร์อยู่ห่างจากจอภาพยนตร์ประมาณ 100 เมตร เชื่อว่ามีแสงสว่างเพียงพอจะมองเห็นกันได้ในระยะใกล้ ประกอบกับสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์รู้จักจำเลยมาก่อน ทั้งการเข้าชกต่อยกันต้องอยู่ในระยะใกล้ประชิดตัว สิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ย่อมเห็นและจำจำเลยได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยด้วยเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีข้อให้ระแวงสงสัยว่าจะแกล้งให้ร้ายจำเลย ทั้งโจทก์ยังมีนายทองบิดาผู้ตาย เบิกความเป็นพยานยืนยันว่า หลังเกิดเหตุสอบถามสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ได้ความว่า จำเลยกับนายเปี๊ยกเป็นคนร้ายที่เข้ามาชกต่อยผู้ตายก่อนที่ผู้ตายจะวิ่งหนีไปโดยมีนายเปี๊ยกวิ่งไล่ตาม สนับสนุนคำเบิกความสิบตำรวจตรีพิเชษฐ์ให้มีน้ำหนักรับฟังได้ยิ่งขึ้น ที่จำเลยนำสืบในทำนองว่า จำเลยไปดูภาพยนตร์กลางแปลงเพียงคนเดียว ระหว่างนั้นกลุ่มคนที่นั่งข้างๆ ทะเลาะวิวาทกันแล้วมีคนวิ่งหลบหนี จำเลยจึงหลบหนีไปด้วย หลังเหตุการณ์สงบจำเลยกลับมานั่งดูภาพยนตร์ต่อไปนั้น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่ปราศจากพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอจะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในคืนเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลังดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย เอกสารหมาย จ.6 ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผล เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน จึงมีอายุความหนึ่งปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.