แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งมิได้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้ เมื่อถึงกำหนดชำระผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเอาดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดชำระจากบรรดาผู้สลักหลังผู้ออกตั๋วและบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นผู้ทรงก็ย่อมมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้ในอัตราเพียงร้อยละห้าต่อปีจากผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งต้องร่วมกันรับผิดกับบุคคลดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย ธนาคารจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัล จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับพิพาทให้จำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3สลักหลังโอนให้โจทก์เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดชำระจำเลยที่ 1และที่ 2 ปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสามแล้วจำเลยไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถึงวันฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ 2 ให้การว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงโดยชอบ โดยรับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินมาโดยฉ้อฉลศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ 18,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันตั๋วสัญญาถึงกำหนดจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า บริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำเลยที่ 1ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเลขที่ พี/เอ็น 075/2525 ลงวันที่ 30มีนาคม 2525 จำนวนเงิน 18,000,000 บาท ให้แก่บริษัทก่อสร้างสหพันธุ์ จำกัด จำเลยที่ 3 สัญญาจะใช้เงินในวันที่15 กุมภาพันธ์ 2526 โดยมีธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จำเลยที่ 2ลงชื่อเป็นผู้รับอาวัล ปรากฏตามตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 3 ได้สลักหลังโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้แก่โจทก์เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด โจทก์นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินจำเลยที่ 2 ปฏิเสธการใช้เงินโดยอ้างว่า โปรดติดต่อผู้สั่งจ่ายตามเอกสารหมาย จ.14
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า โจทก์ได้มีส่วนเข้าไปกระทำการร่วมรู้เห็นและสมคบกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของจำเลยที่ 2 หลอกลวงฉ้อฉลจำเลยที่ 2เพื่อเจตนาให้ได้มาซึ่งการรับรองอาวัลของจำเลยที่ 2 ในตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 ที่โจทก์นำมาฟ้องจริงหรือไม่นั้นเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยที่ 2 รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 ปรากฏจากข้อนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 3ได้ขายที่ดินให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.22และสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.27 ซึ่งได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันตามเอกสารหมาย จ.27 ในวันเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 คือวันที่ 30 มีนาคม 2525 และราคาที่ซื้อขายกันก็มีจำนวนถึง 18,200,000 บาท ซึ่งมีจำนวนเงินเกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลยที่ 3ข้อนี้จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างว่า มิได้มีการซื้อขายที่ดินกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.27อันจะแสดงให้เห็นว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่มีหนี้สินต่อกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3ได้ตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 มาเป็นค่าที่ดินที่จำเลยที่ 1ซื้อไป เมื่อจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 3 ได้แล้ว จำเลยที่ 1ก็นำที่ดินดังกล่าวไปเสนอขอให้จำเลยที่ 2 รับรองตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 70 ล้านบาท โดยมีหลักทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จำนวน175 โฉนด เนื้อที่รวม 52 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา จำนองเป็นประกันจำเลยที่ 2 ได้ให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตรวจสอบรายละเอียดและประเมินราคาที่ดินหลักประกันแล้ว ทำความเห็นเสนอต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า นายสาระ ตุงคะสิริหัวหน้าส่วนสินเชื่อได้ประเมินราคาที่ดินดังกล่าวเป็นราคาประเมิน79,990,000 บาท จึงเสนอเพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินรับรองตั๋วสัญญาใช้เงินให้บริษัทนิลุบลอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(จำเลยที่ 1) จำนวน 70 ล้านบาทถ้วน ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.28ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เข้ารับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.1 จึงเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบแล้ว ซึ่งก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์และจำเลยที่ 3 ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวด้วยแต่อย่างใดนอกจากนี้ยังปรากฏตามคำเบิกความของนายบุญชู โรจนเสถียร พยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 2 ว่า สำหรับเรื่องนี้นั้น ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครบ้างกระทำการทุจริต เช่นนี้ ข้อกล่าวอ้างของจำเลยที่ 2 ที่ว่าโจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 กระทำการอันไม่สุจริตจัดให้จำเลยที่ 2 รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 จึงเลื่อนลอยไม่มีพยานสนับสนุนแต่ประการใด ศาลฎีกาเชื่อว่า โจทก์เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินเอกสารหมาย จ.1 โดยสุจริต เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว ย่อมต้องรับผิดใช้เงินจำนวน 18,000,000 บาทให้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นถึงกำหนดโดยไม่มีเงื่อนไข ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกว่า โจทก์ผู้ทรงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลเมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดชำระและมีการผิดนัดแล้วในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง หรือร้อยละห้าต่อปี ปัญหานี้ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1 มิได้ระบุถึงเรื่องดอกเบี้ยไว้ และแม้เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ทรงใช้สิทธิเรียกร้องโดยตรงจากจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัล ไม่ใช่เรียกร้องเอาจากบุคคล ซึ่งตนใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 968 โจทก์ก็มีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยได้เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนด เมื่อโจทก์ผู้ทรงมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกเอาดอกเบี้ยอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันถึงกำหนดชำระจากบรรดาผู้สลักหลัง ผู้สั่งจ่ายและบุคคลอื่น ๆ ซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นได้แล้วก็ย่อมมีสิทธิเรียกเอาดอกเบี้ยในอัตราร้อยละห้าต่อปีจากจำเลยที่ 2 ผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งต้องร่วมกันกับบุคคลดังกล่าวรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงได้ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 985, 967,968(2) ฉะนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนั้น จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นและเนื่องจากคดีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 3ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้โจทก์18,000,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000 บาทแทนโจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”