แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔/๒๕๔๗
วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับการขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
บริษัท ศิริผลวัฒนา (๑๙๗๙) จำกัด ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๙๑๒/๒๕๔๕ ขอให้บังคับกรมทางหลวงปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ฉบับลงวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ชำระเงินแก่ผู้ร้องจำนวน๖,๒๑๖,๔๙๙.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จ
โดยข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า บริษัท ศิริผลวัฒนา(๑๙๗๙) จำกัด (ผู้ร้อง)และกรมทางหลวง (ผู้คัดค้าน) ได้ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๔๖สายปทุมธานี – อำเภอลาดหลุมแก้ว – อำเภอบางเลน ตอน ๒ระหว่าง กม. ๐๐+๐๐๐.๐๐๐ ถึง๒๐+๖๙๕.๘๖๐ ระยะทางยาวประมาณ ๒๐.๖๙๕ กิโลเมตรรวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวงและสัญญาณจราจร โดยตกลงคำนวณค่าจ้างตามราคาต่อหน่วย รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน ๗๐๔,๙๔๙,๗๒๖ บาท เมื่อผู้ร้องได้ทำงานเสร็จตามสัญญาและส่งมอบครบถ้วนแล้ว ผู้คัดค้านคงชำระหนี้ให้เพียงบางส่วน จึงมียอดเงินยังค้างชำระอีก ๖,๒๑๖,๔๙๙.๕๐ บาทซึ่งผู้ร้องได้มีหนังสือทวงถามไปยังผู้คัดค้านแล้ว แต่ผู้คัดค้านเพิกเฉย ผู้ร้องจึงเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนี้ต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่ ท. ๙/๒๕๓๙ข้อ ๒๑.๑ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านในชั้นอนุญาโตตุลาการว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิเสนอข้อพิพาทนี้เนื่องจากได้ส่งมอบงานทั้งหมดและยินยอมรับเงินค่าจ้างตามสัญญาเป็นการเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
คณะอนุญาโตตุลาการได้พิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย จึงมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินค่าจ้างให้แก่ผู้ร้องจำนวน ๖,๒๑๖,๔๙๙.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จ ผู้คัดค้านรับทราบคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม ผู้ร้องจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นแก่ผู้ร้อง
กรมทางหลวงได้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลแพ่งว่า กรมทางหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและได้กระทำการแทนรัฐ เมื่อได้ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน จึงทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ร่วมกันจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ผู้ร้องยื่นคำชี้แจงว่า ผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตและมีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการในเขตศาลแพ่ง ศาลแพ่งจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนโดยไม่ต้องดำเนินคดีทางศาลอันเป็นการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ คดีนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลแพ่งบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีจึงมิใช่การเสนอข้อหาหรือข้อพิพาทต่อศาล เพื่อให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เพราะข้อพิพาทนั้นได้ระงับไปแล้ว โดยคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่ผู้ร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ศาลย่อมมีอำนาจตรวจสอบว่ากระบวนพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ถูกต้องตามที่คู่พิพาทตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือตกลงกันในชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการหรือคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการขัดต่อหลักความยุติธรรมหรือไม่ คำขอของผู้ร้องจึงมีลักษณะเป็นการเสนอคดีต่อศาล ปัญหาที่ว่าศาลใดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าว จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับเขตอำนาจและวิธีพิจารณาคดีของศาล จึงต้องนำกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ ซึ่งในที่นี้คือ กฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาปรับใช้แก่คดี ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ซึ่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒ บัญญัติให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๓๙ ก วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๔๕ จึงทำให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๕ เป็นต้นไป ส่วนพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒ บัญญัติให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เมื่อได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๙๔ ก วันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๒ จึงทำให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นไป เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการตราพระราชบัญญัติอื่นขึ้นใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ผู้ร้องร้องขอให้ศาลแพ่งบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ อีกทั้งพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ ก็ไม่ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นในการบังคับใช้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องนำพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาปรับใช้แก่คดี
พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๒ บัญญัติว่า เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ ส่วนปัญหาที่ว่า ศาลใดมีเขตอำนาจนั้น จะต้องพิจารณาจากมูลความแห่งคดีที่พิพาทกันและตามกฎหมายจัดตั้งศาลนั้น ๆ เมื่อกรณีตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ เป็นสัญญาว่าจ้างสร้างทางหลวง จึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว ศาลปกครองจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวได้ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) จึงถือว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงส่งความเห็นไปยังสำนักงานศาลปกครอง เพื่อดำเนินการส่งให้ศาลในความรับผิดชอบทำความเห็นในเรื่องดังกล่าว
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้บัญญัติเกี่ยวกับศาลที่มีเขตอำนาจไว้ในมาตรา ๙ ดังนี้ “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้” ประกอบกับมาตรา ๔๕ วรรคสอง บัญญัติว่า “การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี” ซึ่งบทบัญญัติทั้งสองมาตรามุ่งประสงค์ให้พิจารณาลักษณะเนื้อหาแห่งประเด็นข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญว่าเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง โดยมิได้พิจารณาข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการแยกออกต่างหากอีกส่วนหนึ่ง หากข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทใดมีลักษณะเป็นคดีแพ่ง ศาลที่มีเขตอำนาจย่อมได้แก่ศาลยุติธรรม หากข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทใดมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ศาลที่มีเขตอำนาจย่อมได้แก่ศาลปกครอง และหากมีการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลที่มีเขตอำนาจก็ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี
ในเรื่องนี้เป็นกรณีพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้าน เกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๔๖ สายปทุมธานี – อำเภอลาดหลุมแก้ว – อำเภอบางเลน ตอน ๒ ระยะทางยาวประมาณ ๒๐.๖๙๕ กิโลเมตร รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวงและสัญญาณจราจร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีทางพิเศษอันเป็นบริการสาธารณะด้านการคมนาคม สัญญาลักษณะนี้จึงเป็นสัญญาทางปกครอง คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของผู้ร้อง จึงควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง เนื่องจากเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการ อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของกฎหมายจำเป็นต้องมีศาลที่มีเขตอำนาจตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ เพื่อรองรับการใช้สิทธิทางศาลของบุคคล ตลอดจนช่วยเหลือให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินต่อไปได้ เช่น การออกหมายเรียกคู่พิพาทและการใช้วิธีการชั่วคราว เป็นต้น ซึ่งขณะที่เริ่มต้นมีการดำเนินการอนุญาโตตุลาการในเรื่องนี้ (เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๒) ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ (ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางเปิดทำการวันที่๙ มีนาคม ๒๕๔๔)จึงต้องถือว่าศาลยุติธรรมเป็นศาลที่การพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตอำนาจตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อให้การตรวจสอบกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตอำนาจของศาลเดียวกันโดยตลอด ศาลยุติธรรมจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ (ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑/๒๕๔๖)
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา คือ การร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีการเสนอข้อพิพาทกันก่อนที่ศาลปกครองจะเปิดทำการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า การอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีวิธีหนึ่งนอกจากการฟ้องคดีต่อศาล การตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างคู่กรณีอาจกระทำได้โดยกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักหรือทำเป็นสัญญาแยกต่างหากก็ได้ และอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่มักจะปรากฏอยู่ในสัญญาธุรกิจการค้าของเอกชนทั้งภายในและระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาทตามสัญญาระหว่างกัน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการก็มิได้จำกัดอยู่แต่สัญญาระหว่างเอกชนหรือสัญญาทางแพ่งเท่านั้น แม้เป็นสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือสัญญาทางปกครองก็อาจกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้ ตามที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทก็ได้และให้สัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา”
การอนุญาโตตุลาการให้คู่สัญญาต้องระงับข้อขัดแย้งระหว่างกันโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการก่อน วิธีพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการมีหลายขั้นตอนที่คู่กรณีหรืออนุญาโตตุลาการต้องอาศัยความช่วยเหลือจากศาล เนื่องจากอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจบังคับบุคคลเหมือนศาล เช่นการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนหรือขณะดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ (มาตรา ๑๖) การขอออกหมายเรียกบุคคลมาเป็นพยาน การขอออกหมายเรียกเอกสารหรือวัตถุ (มาตรา ๓๓) นอกจากนี้ ภายหลังจากที่อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้ว คู่กรณีอาจคัดค้านหรือขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ ซึ่งก็ต้องอาศัยอำนาจศาลอีกเช่นเดียวกัน
ระหว่างดำเนินการอนุญาโตตุลาการ คู่สัญญาหรืออนุญาโตตุลาการอาจต้องอาศัยความช่วยเหลือจากศาลในหลายกรณี ซึ่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ได้บัญญัติเกี่ยวกับศาลที่มีเขตอำนาจไว้ในมาตรา ๙ ดังนี้ “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาคหรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้” คู่สัญญาหรืออนุญาโตตุลาการที่ต้องการความช่วยเหลือจากศาล จึงต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจดังกล่าว และหากจะมีการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ในบางกรณีซึ่งมาตรา ๔๕วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติว่า “การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุดแล้วแต่กรณี”
จากบทบัญญัติมาตรา ๙ และ ๔๕ วรรคสอง เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มุ่งประสงค์ให้พิจารณาลักษณะเนื้อหาแห่งประเด็นข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญว่าเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง หากเป็นคดีแพ่งศาลที่มีเขตอำนาจได้แก่ ศาลยุติธรรม (ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล)หากเป็นคดีปกครองศาลที่มีเขตอำนาจได้แก่ ศาลปกครอง (ศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น) และหากมีการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลที่มีเขตอำนาจก็ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี
สำหรับคดีนี้เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างบริษัทศิริผลวัฒนา (๑๙๗๙) จำกัด และกรมทางหลวงแล้ว แต่กรมทางหลวงไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาด บริษัท ศิริผลวัฒนา (๑๙๗๙) จำกัด จึงยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งขอให้บังคับกรมทางหลวงปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
สัญญาว่าจ้างก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๓๔๖ สายปทุมธานี – อำเภอลาดหลุมแก้ว – อำเภอบางเลน ตอน ๒ รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนทางหลวงและสัญญาณจราจร ระยะทางยาวประมาณ ๒๐.๖๙๕ กิโลเมตร ระหว่างกรมทางหลวงกับบริษัทศิริผลวัฒนา (๑๙๗๙) จำกัด เป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดทำสิ่งสาธารณูปโภคอันเป็นบริการสาธารณะด้านการคมนาคมสัญญาลักษณะนี้ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาจ้างทำการก่อสร้างที่ ท. ๙/๒๕๓๙ ข้อ ๒๑.๑ มีข้อสัญญาว่า “ในกรณีที่ข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้ หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้ คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการ” ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นข้อหนึ่งของสัญญาหลักหรือสัญญาแยกต่างหากก็ตามแต่ข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่จะเสนอต่ออนุญาโตตุลาการได้นั้น ก็ต้องเกิดจากข้อขัดแย้งตามสัญญาฉบับนี้ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่มีรากฐานจากสัญญาทางปกครอง การขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในเรื่องนี้ จึงควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายจำเป็นต้องมีศาลที่มีเขตอำนาจตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการเพื่อรองรับการใช้สิทธิทางศาลของบุคคลตลอดจนช่วยเหลือให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินต่อไปได้ เช่น การตั้งอนุญาโตตุลาการ การคัดค้านหรือถอดถอนอนุญาโตตุลาการ การออกหมายเรียกคู่พิพาท และการใช้วิธีการชั่วคราว ซึ่งขณะที่เริ่มมีการดำเนินการอนุญาโตตุลาการในเรื่องนี้ (มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๒) ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ (ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางเปิดทำการวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔) อนุญาโตตุลาการได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันก่อนเปิดทำการศาลปกครองขอให้ศาลแพ่งออกคำสั่งเรียกพยานเอกสารต่าง ๆ ที่ผู้เสนอข้อพิพาทอ้าง จึงต้องถือว่าศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือข้อขัดแย้งของคู่กรณีเรื่องนี้มาแต่ต้นตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตอำนาจของศาลเดียวกันโดยตลอด แม้ข้อพิพาทในเรื่องนี้เป็นการขอบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันสืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง ก็ต้องให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า การร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน ระหว่าง บริษัท ศิริผลวัฒนา(๑๙๗๙) จำกัด ผู้ร้อง กับกรมทางหลวง ผู้คัดค้าน ซึ่งมีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนที่ศาลปกครองจะเปิดทำการ และศาลแพ่งได้ใช้อำนาจออกคำสั่งเรียกพยานเอกสารก่อนศาลปกครองเปิดทำการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ศาลแพ่ง
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๘