คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2212/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การวินิจฉัยว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงเหตุที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนดว่า จำเลยทราบหรือไม่ว่าตนถูกฟ้อง จำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การเมื่อใดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยประกอบกัน ซึ่งต้องเป็นพฤติการณ์ก่อนที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทกับจำเลยมีกำหนด 1 ปีค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท โจทก์วางเงินประกันค่าเสียหายไว้แก่จำเลย 12,000 บาท มีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องคืนเงินจำนวนนี้แก่โจทก์เมื่อเลิกเช่า ครั้นสัญญาเช่าสิ้นสุด โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าและคืนตึก แก่จำเลย แต่จำเลยไม่คืนเงินประกันให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์วันที่19 ตุลาคม 2531 วันที่ 14 ตุลาคม 2531 จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นสั่งว่า ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2531 จำเลยทราบเรื่องว่าถูกฟ้องโดย ให้ทนายมาดูสำนวนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2531 และถ่ายคำฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2531 การที่จำเลยเพิ่งมาขอยื่นคำให้การวันที่14 ตุลาคม 2531 แสดงว่าจำเลยจงใจขาดนัดหรือไม่มีเหตุอันสมควรจึงไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การ ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยจำเลยอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จะวินิจฉัยว่า จำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่นั้น เป็นการพิจารณาถึงเหตุที่จำเลยไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด โดย ดูว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การเมื่อใด จำเลยทราบหรือไม่ว่าถูกฟ้องและดูพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลย อันเป็นพฤติการณ์ก่อนที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หลังจากที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว กฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาไว้ว่าจำเลยจะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตให้จำเลยให้การเมื่อใด คดีนี้จำเลยมายื่นคำร้องขออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การหลังจากทราบว่าถูกฟ้องประมาณ 14 วัน และระยะเวลา 14 วันนี้เป็นพฤติการณ์หลังจากศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จึงยังถือไม่ได้ว่าพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่มีเหตุอันสมควรที่จะไม่ให้จำเลยยื่นคำให้การ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องขออนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การแล้วดำเนินการต่อไป โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือผิดจากข้อเท็จจริงในสำนวนหรือไม่ ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 21 กันยายน2531 ว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้นัดสืบพยานโจทก์ วันที่19 ตุลาคม 2531 เวลา 9 นาฬิกา ครั้นวันที่ 14 ตุลาคม 2531จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ โดย อ้างว่าจำเลยเดินทางไปประกอบธุรกิจที่จังหวัดกระบี่ไม่ทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2531 จำเลยทราบว่าถูกฟ้องโดย ให้ทนายมาดูสำนวนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2531 และถ่ายคำฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2531 การที่จำเลยเพิ่งมาขอยื่นคำให้การ (ที่ถูกยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ) วันที่ 14 ตุลาคม 2531 แสดงว่าจำเลยจงใจขาดนัดหรือไม่มีเหตุอันสมควรจึงไม่อนุญาตให้ยื่นคำให้การให้ยกคำร้อง” พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 199 วรรคแรกบัญญัติว่า “ถ้าจำเลยมาศาลเมื่อเริ่มต้นสืบพยานหรือแจ้งให้ศาลทราบก่อนเริ่มสืบพยานถึงเหตุที่ตนมิได้ยื่นคำให้การและศาลเห็นว่าการขาดนัดของจำเลยมิได้เป็นไปโดย จงใจ หรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควร” เห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่นั้น เป็นการพิจารณาถึงเหตุที่จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด โดย จะต้องดูว่าจำเลยทราบหรือไม่ว่าตนถูกฟ้อง จำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การเมื่อใดและพฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยประกอบกัน อันเป็นพฤติการณ์ก่อนที่ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยทราบว่าถูกฟ้องโดย ให้ทนายมาดูสำนวนวันที่ 30กันยายน 2531 และถ่ายคำฟ้องวันที่ 3 ตุลาคม 2531 การที่จำเลยเพิ่งมายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การวันที่ 14 ตุลาคม 2531แสดงว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่มีเหตุอันสมควรนั้นเป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จึงนำพฤติการณ์ดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าจำเลยจงใจขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นเป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือผิดจากข้อเท็จจริงในสำนวน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share