คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าซื้อระบุว่าเมื่อผู้ให้เช่าซื้อยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อ คืนมาและนำออกขายแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิด จนครบ ดังนั้นเมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อขายรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ราคา ไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาด อันเป็นค่าเสียหาย ส่วนหนึ่งซึ่งเกิดจากการผิดสัญญา จำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมต้องร่วมรับผิดด้วย สัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันมิได้กำหนดว่ากรณีโจทก์จะขายรถยนต์เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว โจทก์จะต้องบอกกล่าวผู้เช่าซื้อ หรือผู้ค้ำประกันก่อน ทั้งไม่มีกฎหมายระบุให้โจทก์จะต้องทำเช่นนั้น แต่กลับมีข้อสัญญาระบุว่าโจทก์สามารถขายได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ซึ่งซึ่งไม่เป็นข้อที่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์จึงไม่ต้องบอกกล่าวก่อนขาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ กับจำเลยที่ 2 และที่ 3ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่อาจเรียกร้องราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่อีกได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 222,510 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์เก๋งยี่ห้อซูบารุ 1 คัน จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันราคาตามสัญญาเช่าซื้อ 429,640 บาท จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 39,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 48 งวด งวดละ 8,130 บาท ต่อเดือน เฉพาะงวดสุดท้าย 8,530 บาทหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 1 งวดผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 2 ซึ่งตรงกับเดือนมิถุนายน 2527 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันตามข้อกำหนดในสัญญา ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์2528 พนักงานของโจทก์ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนมาได้ และได้นำออกขายโดยมิได้บอกกล่าวจำเลยคนหนึ่งคนใด เมื่อรวมจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระกับเงินที่ขายรถยนต์ที่ยึดมาแล้วได้เงินไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อ
คดีมีปัญหาตามฎีกาข้อแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายสำหรับราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่หรือไม่ ได้พิจารณาสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 แล้ว มีข้อสัญญาระบุไว้ในข้อ 9 ว่า “เมื่อเจ้าของยึดทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนมาได้แล้ว เจ้าของอาจเลือกใช้สิทธิที่จะนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อออกขายโดยเปิดเผยกับบุคคลใดเป็นราย ๆ ไป…โดยเจ้าของมิจำต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าซื้อทราบ จำนวนเงินที่ขายได้หากมีการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าซื้อก่อนขาย ให้เจ้าของหักเงินค่าซ่อมแซมออกจากราคาที่ขายได้ เหลือเท่าใดให้นำไปชำระราคาค่าเช่าซื้อที่ยังคงเหลืออยู่… และผู้เช่าซื้อให้สัญญาว่า หากราคาทรัพย์สินที่เช่าซื้อซึ่งได้ขายไปไม่พอชำระหนี้ดังกล่าวแล้วผู้เช่าซื้อยอมชำระเงินจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกให้กับเจ้าของจนครบ”ตามข้อสัญญาดังกล่าวนี้เมื่อโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ราคาไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระราคาส่วนที่ขาดอันเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งซึ่งเกิดจากการผิดสัญญา จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดด้วยตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดราคาส่วนที่ขาดเป็นค่าเสียหายได้ ส่วนจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้จะเป็นเท่าใดนั้น ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาค่าเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์แล้วกำหนดให้ 150,000 บาท จำเลยที่ 3 มิได้กล่าวในฎีกาให้เห็นเป็นการชัดแจ้งว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้มีข้อที่ไม่ถูกต้องอย่างไรจึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลง
ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อต่อมาว่า โจทก์ขายรถยนต์ไปโดยไม่บอกกล่าวจำเลยที่ 3 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมิได้มีข้อกำหนดไว้ว่าในกรณีที่โจทก์จะขายรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วโจทก์จะต้องบอกกล่าวผู้เช่าซื้อหรือผู้ค้ำประกันก่อน ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดระบุให้โจทก์ต้องทำตามที่กล่าวอ้างในฎีกา กลับมีข้อสัญญาระบุไว้ชัดเจนว่าโจทก์สามารถขายได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ซึ่งข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวนี้ก็ไม่เป็นข้อที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงมีผลบังคับได้
พิพากษายืน.

Share