แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๘/๒๕๕๓
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดสระแก้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองระยอง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสระแก้วโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๑ นายศุภชัย ทรัพย์ทวีพูลผล โจทก์ ยื่นฟ้องกรมที่ดิน ที่ ๑ บริษัทอารีย์ชัยวู้ดเทค จำกัด ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสระแก้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๐๑๑/๒๕๕๑ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ ๖ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ที่ดินอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์กบินทร์บุรี ตามประกาศคณะปฏิวัติและแผนที่ท้ายประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕๒ ลงวันที่ ๒๔ และ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๑๑ โจทก์เป็นสมาชิกของนิคมสหกรณ์กบินทร์บุรี ปฏิบัติตามเงื่อนไขของนิคมสหกรณ์กบินทร์บุรี และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินครบถ้วน ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) เลขที่ ๑๔๔๗๙ ในที่ดินเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา ให้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ จำเลยที่ ๑ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๑๘๘ และ ๑๐๑๘๔ ตำบลบ้านแก้ง อำเภอเมือสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ให้แก่นายอารีย์ ภู่สมบุญ และนางกรองทอง ด่านศรีสมบูรณ์ ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยเจ้าพนักงานที่ดินมิได้แจ้งให้หัวหน้านิคมสหกรณ์กบินทร์บุรีทราบ และออกโฉนดให้ผู้ขอที่ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ทำให้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๑๘๘ ทับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือ เป็นเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) ของโจทก์ จำเลยที่ ๒ คัดค้านการออกโฉนดของโจทก์อ้างว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๘๘ รับโอนมาจากนายอารีย์ และนางกรองทอง การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๑๘๘ เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์เนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ก่อนคดีนี้ โจทก์ฟ้องสำนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้วกับพวกต่อศาลนี้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ. ๒๐๑๐/๒๕๕๑ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ออกโฉนดและให้ออกโฉนดให้โจทก์ ตามที่โจทก์ขอออกโฉนดที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) เลขที่ ๑๔๔๗๙ แต่ถูกจำเลยที่ ๒ และนายอารีย์คัดค้านอ้างว่า เป็นที่ดินของตนที่ได้ออกโฉนดแล้ว ตามโฉนดเลขที่ ๑๐๑๘๘ และ ๑๐๑๘๔ เจ้าพนักงานที่ดินสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งไม่ออกโฉนดให้โจทก์ การที่โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน การออกโฉนดที่ดินเป็นการออกโดยวิธีการเดินสำรวจออกโฉนดตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สืบเนื่องมาจากแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔๒ ซึ่งนางถนอม ศิลปิกุล ได้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๔๙๘ เจ้าพนักงานออกโฉนดโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๘๘ ซึ่งได้รับโฉนดเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ ก่อนออกโฉนดเป็นที่ดินที่มีการครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่ปรากฏว่ามีด้านใดของที่ดินจรดที่ดินที่โจทก์อ้างว่ามีสิทธิครอบครอง โจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกหนังสือรับรองแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) ได้เฉพาะที่ดินเป็นของรัฐเท่านั้น แต่ที่ดินที่โจทก์อ้างเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา ว่าทับซ้อนที่ดินของโจทก์นั้น มิใช่ที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดให้โจทก์ครอบครองและออกโฉนดได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดิน ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้วออกคำสั่งให้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบและสั่งไม่ออกโฉนดที่ดินให้โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้เพิกถอนคำสั่ง เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสระแก้วพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีของโจทก์จะสืบเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินออกให้แก่ผู้อื่นทับที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) เลขที่ ๑๔๔๗๙ เห็นได้ว่า เป็นการฟ้องโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งหมายให้ศาลรับรองความเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ซึ่งศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทตามคำขอของโจทก์ได้ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นสิทธิครอบครองของโจทก์หรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวข้องกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองระยองพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกันเอง อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๑ ที่มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองมีอำนาจหน้าที่ออกโฉนดที่ดินและดำเนินการอื่นตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ดำเนินการออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๑๘๘ และ ๑๐๑๘๔ ให้แก่นายอารีย์ และนางกรองทอง โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการออกโฉนดที่ดินที่อยู่ในเขตนิคมสหกรณ์กบินทร์บุรีตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๕๒ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๑๕ โดยมิได้มีการแจ้งหัวหน้านิคมสหกรณ์ทราบเพื่อไปร่วมกันทำการตรวจพิสูจน์อันเป็นการกล่าวอ้างว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๘๘ ออกทับซ้อนบนที่ดินของโจทก์ตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) เลขที่ ๑๔๔๗๙ ซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ เป็นจำนวนเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา โจทก์ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าว ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ออกทับซ้อนที่ดินของโจทก์ ประเด็นพิพาทในคดีนี้จึงเป็นกรณีที่โจทก์มีวัตถุประสงค์มุ่งหมายให้ศาลตรวจสอบเฉพาะการดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาทของจำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้วว่า ถูกต้องตามกระบวนการ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการออกโฉนดที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้ว เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะจำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้ว เป็นเจ้าพนักงานที่ดินอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินอันเป็นกฎหมายมหาชน จึงเป็นการกระทำทางปกครอง เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ ๑ โดยเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระแก้ว ดำเนินการออกโฉนดที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบตามกระบวนการ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการออกโฉนดที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และประสงค์ที่จะฟ้องจำเลยที่ ๑ ในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่ออกโฉนดที่ดิน คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) และวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า เป็นผู้ครอบครองที่ดินเนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา ตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ ซึ่งอยู่ในเขตนิคมสหกรณ์กบินทร์บุรี โจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) เลขที่ ๑๔๔๗๙ ในที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ ได้ออกโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๑๘๘ และ ๑๐๑๘๔ ให้แก่นายอารีย์ และนางกรองทอง โดยเจ้าพนักงานที่ดินมิได้แจ้งให้หัวหน้านิคมสหกรณ์กบินทร์บุรีทราบ ซึ่งเป็นการออกโฉนดให้ผู้ขอที่ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ และโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๑๘๘ ทับที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือ เป็นเนื้อที่ ๗ ไร่ ๒ งาน ๓๕ ตารางวา โจทก์เคยขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน. ๕) ของโจทก์ แต่จำเลยที่ ๒ คัดค้านอ้างว่า เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๑๘๘ ซึ่งรับโอนมาจากนายอารีย์ และนางกรองทอง การออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๑๘๘ เฉพาะส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การออกโฉนดที่ดินเจ้าพนักงานออกตามหลักฐาน ส.ค. ๑ เลขที่ ๔๒ ซึ่งนางถนอมได้แจ้งการครอบครองไว้เมื่อปี ๒๔๙๘ จึงชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินดังกล่าวก่อนออกโฉนดมีการครอบครองทำประโยชน์มาตั้งแต่ก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะกรมส่งเสริมสหกรณ์จะออก กสน. ๕ ได้เฉพาะที่ดินของรัฐเท่านั้น แต่ที่ดินพิพาทนั้น มิใช่ที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดให้โจทก์ครอบครองและออกโฉนดได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดิน ดังนั้นการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๒ ตามที่โต้แย้งกันไว้เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับ สิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายศุภชัย ทรัพย์ทวีพูลผล โจทก์ กรมที่ดิน ที่ ๑ บริษัทอารีย์ชัยวู้ดเทค จำกัด ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ