คำวินิจฉัยที่ 59/2553

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๙/๒๕๕๓

วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓

เรื่อง คดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลภาษีอากรกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๐ นายสาคร ปอประสิทธิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมสรรพากร ที่ ๑ สรรพากรภาค ๒ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๓๙๕/๒๕๕๐ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ สภ.๒/๙๓๒๖/๒๕๕๐ แต่งตั้งเจ้าพนักงานให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร และได้ออกประกาศกรมสรรพากร ที่ สภ.๒/๙๓๒๗/๒๕๕๐ ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรรายของผู้ฟ้องคดี ซึ่งค้างชำระอยู่กับกรมสรรพากรเป็นเงิน ๓,๐๙๕,๓๗๕.๙๐ บาท โดยได้มีคำสั่งให้ยึดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๓๑ เลขที่ ๕๐๒๑ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางวิมลมาศ ปอประสิทธิ์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอินทร์ ปอประสิทธิ์ นางสาวบุญมา ปอประสิทธิ์ นางจันทร์ อ้นสุวรรณ และนายพรม ปอประสิทธิ์ และเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ออกประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว โดยประกาศว่าที่ดินมีราคาประเมินตารางวาละ ๒๔,๐๐๐ บาท รวมทั้งแปลงราคาประมาณ ๑๗๘,๖๕๖,๐๐๐ บาท ไม่มีภาระผูกพัน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ คัดค้านการยึดและขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่มิได้มีคำสั่งยกเลิกการยึดและขายทอดตลาดที่ดินแต่ประการใด ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งและประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ให้ยึดที่ดินและขายทอดตลาดที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากภาษีอากรที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีค้างชำระเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกเมื่อปี ๒๕๓๕ ถึง ๒๕๓๗ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งและประกาศให้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินของผู้ฟ้องคดีในปี ๒๕๕๐ จึงขาดอายุความตามกฎหมาย และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ประกาศให้ยึดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีโดยระบุว่าที่ดินของผู้ฟ้องคดีไม่มีภาระผูกพัน เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะในความเป็นจริงที่ดินแปลงดังกล่าวมีภาระผูกพันและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ผู้ฟ้องคดีค้างชำระหนี้ภาษีอากรเป็นเงินจำนวน ๓,๐๙๕,๓๗๕.๙๐ บาท ในขณะที่ระบุราคาประเมินที่ดินของผู้ฟ้องคดีไว้ตารางวาละ ๒๔,๐๐๐ บาท ราคาประเมินที่ดินทั้งโฉนดเป็นเงินประมาณ ๑๗๘,๖๕๖,๐๐๐ บาท หรือถ้าคำนวณเฉพาะส่วนที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จะมีราคาประเมินเป็นเงินจำนวน ๕๗,๖๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสูงกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองอ้างว่าผู้ฟ้องคดีค้างชำระเป็นจำนวนมาก ทั้งราคาซื้อขายในท้องตลาดมีราคาสูงกว่าราคาประเมินถึงสองถึงสามเท่าตัว แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการเกินความจำเป็นและมีเจตนากลั่นแกล้งเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินรายอื่นนำเงินภาษีอากรค้างชำระของผู้ฟ้องคดีมาชำระให้แก่กรมสรรพากร นอกจากนี้ ที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดมีนบุรี ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๑๐๐๗/๒๕๔๕ และได้ถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ในคดีของศาลแพ่ง หมายเลขแดงที่ ๑๗๑๓๖/๒๕๔๐ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงไม่มีอำนาจที่จะออกประกาศให้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าวได้ จึงเป็นการยึดซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งและประกาศดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งและประกาศที่ สภ.๒/๙๓๒๖/๒๕๕๐ และที่ สภ.๒/๙๓๒๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ ที่ให้ยึดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๓๑ เลขที่ ๕๐๒๑ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และให้ยกเลิกเพิกถอนประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่องขายทอดตลาดทรัพย์สิน ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ที่ให้ขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๓๑ เลขที่ ๕๐๒๑ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า คำสั่งและประกาศที่ สภ.๒/๙๓๒๖/๒๕๕๐ และที่ สภ.๒/๙๓๒๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ และประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เรื่องขายทอดตลาดทรัพย์สิน ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เป็นคำสั่งและประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีนี้ก่อนนำคดีมาฟ้องยังศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔๕ กำหนด จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ คดีไม่ขาดอายุความ ทั้งการยึดและขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๓๑ เลขที่ ๕๐๒๑ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ไม่ถือเป็นการยึดซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีได้ค้างชำระภาษีอากร ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ บังคับชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าว โดยมีคำสั่งยึดและประกาศขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๓๑ เลขที่ ๕๐๒๑ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าสิทธิเรียกร้องในหนี้ภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวขาดอายุความ การยึดและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำที่นอกเหนือเกินความจำเป็นที่กระทำและเป็นการยึดซ้ำ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกคำสั่งยึดและประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ถือได้ว่าเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ผู้ฟ้องคดีทำคำชี้แจงเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ เพราะไม่ได้ฟ้องในประเด็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประเมินภาษีอากรค้างชำระไม่ชอบ แต่ฟ้องเฉพาะกรณีผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองออกคำสั่งและประกาศโดยไม่ชอบ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งและประกาศดังกล่าว คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องเกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ออกคำสั่งกรมสรรพากร ที่ สภ. ๒/๙๓๒๖/๒๕๕๐ เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร และประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การขายทอดตลาดทรัพย์สิน ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ เพื่อยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีเพื่อชำระเงินค่าภาษีอากรค้าง โดยมิได้มีประเด็นโต้แย้งเรื่องจำนวนเงินค่าภาษีอากรค้างแต่อย่างใด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ออกคำสั่งและประกาศดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร และเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ออกคำสั่งและประกาศดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและประกาศดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการยึดทรัพย์สินและประกาศขายทอดตลาดว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกอบกับศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๔๖/๒๕๓๕ ว่า การฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดโดยใช้อำนาจตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร และขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดและประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับภาษีอากรตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องคดีนี้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีคำสั่งและประกาศให้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๓๑ เลขที่ดิน ๕๐๒๑ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ของผู้ฟ้องคดี ซึ่งค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรต่อผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นการใช้อำนาจที่เกี่ยวกับมาตรการบังคับชำระหนี้ค่าภาษีค้างในการยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระหนี้ค่าภาษี ตามมาตรา ๑๒ แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นมาตรการที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร เมื่อมีการโต้แย้งว่าเป็นการใช้อำนาจที่มิชอบด้วยกฎหมายก็ย่อมถือว่าเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้จะรวมถึงการบังคับตามสิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีอากร ไม่ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานตามกฎหมายภาษีอากรจะยุติแล้วหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งและประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เกี่ยวกับการยึดที่ดินและขายทอดตลาดเป็นไปโดยมิชอบ เพราะภาษีธุรกิจเฉพาะที่ค้างชำระเกิดจากการที่ผู้ฟ้องคดีถูกประเมินภาษีเนื่องจากการขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก จึงมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีการขายที่ดินไป ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องกระทำการยึดทรัพย์ของผู้ฟ้องคดีเพื่อขายทอดตลาดบังคับชำระค่าภาษีค้างภายใน ๑๐ ปี นับแต่วันที่มีการขายที่ดินซึ่งต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว อีกทั้งที่ดินที่ถูกยึดเฉพาะส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีกรรมสิทธิ์มีราคาประเมินสูงกว่าค่าภาษีที่อ้างว่าค้างชำระเป็นจำนวนมาก และผู้ถูกฟ้องคดีไม่มีอำนาจยึดที่ดินพิพาทเนื่องจากได้มีการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดมีนบุรีในที่ดินดังกล่าวแล้ว เป็นการยึดซ้ำต้องห้าม ตามมาตรา ๒๙๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มูลเหตุแห่งข้อพิพาทจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรที่จะพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๗ (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๐๕๖/๒๕๓๕ ที่ศาลปกครองกลางกล่าวอ้างนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ในคดีดังกล่าวอ้างว่าการสั่งยึดทรัพย์สินของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโจทก์มิใช่ผู้ต้องรับผิดในการเสียภาษีหรือนำส่งภาษีอากร ซึ่งแตกต่างจากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งและประกาศ ที่ สภ.๒/๙๓๒๖/๒๕๕๐ และที่ สภ.๒/๙๓๒๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๐ และประกาศเรื่อง ขายทอดตลาดทรัพย์สิน ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ที่ให้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากร โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๓๑ เลขที่ดิน ๕๐๒๑ ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งและประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งและประกาศดังกล่าว เห็นว่า แม้คดีนี้ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและประกาศของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งออกตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ และเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง ตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ แต่เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งและประกาศให้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินของผู้ฟ้องคดีซึ่งค้างชำระหนี้ค่าภาษีอากรเพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้าง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร เมื่อผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าการใช้สิทธิเรียกร้องของรัฐดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของรัฐในหนี้ค่าภาษีอากร ตามมาตรา ๗ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลภาษีอากร และไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสาคร ปอประสิทธิ์ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมสรรพากร ที่ ๑ สรรพากรภาค ๒ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share