แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 ข้อ 37 กำหนดว่าในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานตามความในข้อ 23 และ 24 และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว และตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2524 ข้อ 3.1 กำหนดว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี บริษัทตกลงจ่ายแก่ผู้ขอรับให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีทำงานนั้น ๆ ส่วนลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี คงให้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาเช่า จึงเห็นได้ว่าตามข้อกำหนดของคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินชดเชยในขณะที่ออกคำสั่งนั้นซึ่งหมายถึงค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่ประกาศใช้ในเวลาต่อมาและยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้แก่พนักงานหรือคนงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานแต่เพียงอย่างเดียวหาได้ประสงค์ให้มีสิทธิได้รับเงินเต็มจำนวนทั้งสองประเภทไม่ดังนั้นในกรณีที่พนักงานหรือคนงานมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยมากกว่าค่าชดเชย ก็ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนค่าชดเชยซึ่งถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเช่นกัน เพียงแต่มีการจ่ายรวมกันไปกับเงินบำเหน็จเท่านั้น และในกรณีที่เงินบำเหน็จมีจำนวนน้อยกว่าค่าชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยเพียงอย่างเดียวที่พนักงานหรือคนงานนั้นมีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชยรวมไปด้วย และมิใช่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิในการรับค่าชดเชยของพนักงานหรือคนงานตามกฎหมาย จึงถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามก็คือเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 124/2501 ข้อ 37 นั่นเอง เพียงแต่จำเลยและลูกจ้างได้ตกลงเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการจ่ายเงินบำเหน็จจากการจ่ายครั้งเดียวมาเป็นจ่ายเป็นรายปีและไม่ถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามไปแล้วเป็นเงินประเภทอื่น และเมื่อคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่124/2501 ดังกล่าวเพียงแต่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และหาเป็นผลให้เป็นการยกเลิกคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เกี่ยวกับค่าชดเชยโดยเฉพาะข้อ 37 ไม่ ดังนั้นการที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างรวมไปกับเงินบำเหน็จจึงไม่เป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อเงินบำเหน็จที่โจทก์แต่ละคนได้รับไปแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิได้รับ โจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก
ย่อยาว
คดีทั้งสิบสามสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลย ต่อมาจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามเนื่องจากเกษียณอายุโดยโจทก์ทั้งสิบสามไม่ได้กระทำความผิดโจทก์ทั้งสิบสามทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไปมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน โดยโจทก์ที่ 1 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2537โจทก์ที่ 2 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2538 โจทก์ที่ 3เกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2538 โจทก์ที่ 4 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2536 โจทก์ที่ 5 เกษียณอายุเมื่อวันที่30 ธันวาคม 2536 โจทก์ที่ 6 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 7 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2539โจทก์ที่ 8 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 9เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2538 โจทก์ที่ 10 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 11 เกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 12 เกษียณอายุเมื่อวันที่31 ธันวาคม 2539 โจทก์ที่ 13 เกษียณอายุเมื่อวันที่31 ธันวาคม 2539 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 119,580 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน88,800 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 75,600 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน65,940 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 65,940 บาท โจทก์ที่ 6จำนวน 76,140 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 76,140 บาท โจทก์ที่ 8 จำนวน 67,416 บาท โจทก์ที่ 9 จำนวน 75,600 บาท โจทก์ที่ 10 จำนวน 135,000 บาท โจทก์ที่ 11 จำนวน 71,940 บาท โจทก์ที่ 12 จำนวน 72,360 บาท และโจทก์ที่ 13 จำนวน 95,760 บาท
จำเลยทั้งสิบสามสำนวนให้การว่า จำเลยได้ชำระค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามแล้ว โดยชำระรวมกับเงินบำเหน็จทั้งนี้เนื่องจากระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ให้เช่ากับจำเลย ผู้เช่า ข้อ 54 ได้กำหนดให้นำคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เรื่องระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานและวันหยุด ค่าจ้าง เงินชดเชย เงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลค่าทำศพ และบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงานสุรา พ.ศ. 2501มาใช้บังคับ โดยถือเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย ซึ่งในข้อ 23 ของคำสั่งดังกล่าวมีข้อความว่าพนักงานประจำมีสิทธิได้รับเงินชดเชยในกรณีที่โรงงานสุราให้ออกจากงานตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยแรงงานเท่ากับเงินค่าจ้างตามปกติที่ได้รับอยู่เป็นจำนวน 30 วันหรือ 1 เดือน(สำหรับพนักงานรายเดือน) แล้วแต่กรณี ส่วนเรื่องเงินบำเหน็จนั้นข้อ 31 มีข้อความว่า เงินบำเหน็จให้จ่ายคราวเดียวเท่ากับค่าจ้างปกติในเดือนสุดท้ายของปีที่ออกหรือตายปีละ 1 เดือนต่อมาได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานออกใช้บังคับในภายหลังให้นายจ้างจ่ายคาชดเชยแก่ลูกจ้างซึ่งทำงานครบ 3 ปีขึ้นไปในจำนวนไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน หรือ 6 เดือน จึงได้มีการแก้ไขอัตราค่าชดเชยจาก30 วัน หรือ 1 เดือน เป็น 180 วัน หรือ 6 เดือน นอกจากนี้ในข้อ37 มีข้อความว่า ในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานตามความในข้อ 23 และข้อ 24 และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชยแต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว ต่อมาได้มีข้อตกลงการรับเงินบำเหน็จตัดตอนอันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างออกมาใช้บังคับ ซึ่งมีผลให้โจทก์ทุกคนที่ได้รับเงินบำเหน็จตัดตอนไปจากจำเลยต้องถือว่าได้รับเงินบำเหน็จตามข้อ 37 ดังกล่าวแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสิบสามได้รับเงินบำเหน็จซึ่งมีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยไปจากจำเลยครบถ้วนแล้วโจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีกขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสิบสามอุทธรณ์ว่า เงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามเป็นเพียงเงินบำเหน็จตอบแทนความชอบที่จ่ายให้แก่โจทก์ทุกคนตลอดเวลาในระหว่างที่ยังคงทำงานอยู่กับจำเลยส่วนค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้างเมื่อมีการเลิกจ้างโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิด ซึ่งเจตนารมณ์ในการจ่ายเงินประเภทนี้แตกต่างจากการจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนจึงต้องถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสิบสามดังกล่าวไม่มีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วย พิเคราะห์แล้วตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เอกสารหมาย ล.10ข้อ 37 กำหนดว่าในกรณีที่พนักงานประจำมีสิทธิได้รับทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานตามความในข้อ 23 และ 24และเงินบำเหน็จตามระเบียบนี้ ถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชย ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชยแต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว และตามบันทึกข้อตกลง ฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2524เอกสารหมาย ล.11 ข้อ 3.1 กำหนดว่า การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี บริษัทตกลงจ่ายแก่ผู้ขอรับให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม ของปีทำงานนั้น ๆ ส่วนลูกจ้างที่ไม่ประสงค์จะรับเงินบำเหน็จตัดตอนเป็นรายปี คงให้ปฏิบัติตามข้อผูกพันในสัญญาเช่า ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อกำหนดของคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวมุ่งประสงค์ที่จะให้จำเลยจ่ายเงินชดเชยในขณะที่ออกคำสั่งนั้น ซึ่งหมายถึงค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46ที่ประกาศใช้ในเวลาต่อมาและยังมีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้แก่พนักงานหรือคนงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานแต่เพียงอย่างเดียว หาได้ประสงค์ให้มีสิทธิได้รับเงินเต็มจำนวนทั้งสองประเภทไม่ ในกรณีที่พนักงานหรือคนงานมีสิทธิได้รับทั้งค่าชดเชยและเงินบำเหน็จถ้าเงินบำเหน็จมีจำนวนมากกว่าค่าชดเชย ก็ให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนค่าชดเชย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการจ่ายค่าชดเชยให้แล้วเช่นกันเพียงแต่มีการจ่ายรวมกันไปกับเงินบำเหน็จเท่านั้น และในกรณีที่เงินบำเหน็จมีจำนวนน้อยกว่าค่าชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยเพียงอย่างเดียวที่พนักงานหรือคนงานมีสิทธิได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว ดังนั้น การจ่ายเงินบำเหน็จตัดตอนดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าชดเชยรวมไปด้วยและมิใช่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิในการรับค่าชดเชยของพนักงานหรือคนงานตามกฎหมายจึงถือว่าเงินบำเหน็จตัดทอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามก็คือเงินบำเหน็จตามคำสั่งที่ 124/2501 ข้อ 37 นั่นเองเพียงแต่จำเลยและลูกจ้างได้ตกลงเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการจ่ายเงินบำเหน็จจากการจ่ายครั้งเดียวมาเป็นจ่ายเป็นรายปีเท่านั้น และไม่ถือว่าเงินบำเหน็จตัดตอนที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทั้งสิบสามไปแล้วเป็นเงินประเภทอื่น ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งสิบสามอุทธรณ์ต่อไปว่าข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวไม่มีผลบังคับเพราะฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 กับข้อ 46 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501 เพียงแต่ออกมาเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และไม่ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 และหาเป็นผลให้เป็นการยกเลิกคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมที่ 124/2501เกี่ยวกับค่าชดเชย โดยเฉพาะข้อ 37 ไม่ ดังนั้นการที่จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างรวมไปกับเงินบำเหน็จจึงหาเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตกเป็นโมฆะตามที่โจทก์ทั้งสิบสามกล่าวอ้างมาในอุทธรณ์ไม่เมื่อเงินบำเหน็จที่โจทก์แต่ละคนได้รับไปแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสิบสามมีสิทธิได้รับ โจทก์ทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยจากจำเลยอีก
พิพากษายืน