คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมรวมทั้งโจทก์ และจำเลย การที่จำเลยใช้คนงานเข้าไปถมดินทำรั้วสังกะสีล้อมที่ดินพิพาทไว้ทั้งสี่ด้านและทำเสาเพื่อสร้างโรงจอดรถของจำเลยในที่ดินพิพาทโดยอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของตน มิใช่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคน หากแต่เป็นการเข้าแย่งการครอบครองจากโจทก์ในลักษณะยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเอง จำเลยไม่อาจอ้างว่าจำเลยเข้าใช้ประโยชน์ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น ๆ เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนโดยตรงจึงชอบที่จะเข้าขัดขวางและฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อรั้วถอนรั้วสังกะสีและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทได้ จำเลยรื้อรั้วลวดหนามและตัดฟันต้นกล้วย ต้นจากและต้นมะพร้าวของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทที่โจทก์จำเลยเป็นเจ้าของรวมอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์จำเลยย่อมต้องชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ แต่เมื่อที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นของโจทก์ผู้เดียว หากแต่เป็นของเจ้าของรวมทุกคนคือโจทก์และจำเลย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองให้คนงานบุกรื้อถอนรั้วลวดหนามที่โจทก์ทำกั้นแนวเขตที่ดินด้านทิศเหนือที่ติดกับถนนสาธารณประโยชน์ กั้นรั้ว ตัดฟันต้นไม้ของโจทก์ ถมทรายปักเสาทำโรงรถ ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 42 ตารางวาอันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเนื้อที่ 375 ตารางวา ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1658 ที่โจทก์ครอบครองต่อจากนายเชาว์บิดาของโจทก์โดยความสงบเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี นายเชาว์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ด้วยการได้รับตกทอดมรดกมาจากนางเฮียงผู้เป็นเจ้าของรวมกับนางตู่ นายศิริ นางเจิ่งนายกิ๊ด และนายปั้นในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยส่วนของนางตู่ตกทอดมรดกแก่จำเลยทั้งสอง นางวงเขียน แสงโชติและนายประเสริฐ แสงโชติ ที่ได้แบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดแน่นอน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้รื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินดังกล่าวห้ามจำเลยทั้งสองเข้ายุ่งเกี่ยวหรือรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน11,000 บาท และต่อไปอีกเดือนละ 1,000 บาท แก่โจทก์นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิได้กั้นรั้วที่ดินพิพาทและโต้แย้งบุคคลที่จะเข้ามาแย่งการครอบครองตลอดมาโจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง โจทก์จึงมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์รวมเฉพาะส่วนตามสิทธิ จำเลยทั้งสองไม่ได้บุกรุกและกระทำละเมิดต่อโจทก์โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ คดีฟังได้ว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนโดยครอบครองรวมกับที่ดินส่วนอื่นเป็นจำนวน 375 ตารางวาตามที่ระบุว่าในแผนที่วิวาทดังกล่าว นับแต่วันทำแผนที่วิวาทเมื่อปี 2510 จนถึงปีที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในที่ดินพิพาทครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2532 ต้องถือว่าโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทมากว่า 10 ปี ส่วนปัญหาต่อไปว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่ผู้เดียวหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนแยกกันครอบครองเป็นส่วนสัด โดยส่วนของโจทก์คือส่วนที่ครอบครองรวมถึงที่พิพาทดังกล่าว สำหรับปัญหาต่อไปตามที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยอายุความได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 นั้น เห็นว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1658 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 2 งาน 2 ตารางวา โดยมีนางเจิ่ง นายกิ้ด นายปั้น นางเป้า แซ่อึ๊ง นางเฮียงและนางตู่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2485นางเป้าโอนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของตนให้แก่นายศิริ แซ่อึ้งหลังจากนั้นผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม 6 คน คือ นายศิรินางเจิ่ง นายกิ้ด นายปั้น นางเฮียง และนางตู่ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเรื่อยมาโดยทายาทของผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเข้ารับมรดกส่วนของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมเดิมที่ถึงแก่ความตายตลอดมา ซึ่งจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คนเข้ารับมรดกส่วนของนางตู่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2486นายเชาว์ เขมสม บิดาโจทก์เข้ารับมรดกส่วนของนางเฮียงเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2486 โจทก์เข้ารับมรดกส่วนของนายเชาว์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2496 ตามสารบัญท้ายโฉนดเอกสารหมาย จ.2 และตามสารบัญดังกล่าวไม่ได้บรรยายส่วนของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแต่เดิมทั้งหกว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินคนละกี่ส่วน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทั้งหกมีส่วนในกรรมสิทธิ์ของที่ดินเท่า ๆ กัน คือคนละ 167 ตารางวา การที่นายเชาว์และโจทก์ครอบครองที่ดินมากถึง 375 ตารางวา มากกว่าส่วนของตนตามข้อสันนิษฐานของกฎหมายต้องมีหลักฐานมาพิสูจน์ว่านางเฮียงผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมากกว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นหรือผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่ละคนไม่เท่ากันจึงจะฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ การที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 375 ตารางวาจากส่วนที่นายเชาว์และโจทก์ได้รับมรดกจากนางเฮียงโดยการครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์โดยอายุความได้สิทธินั้นนายเชาว์บิดาโจทก์เข้าครอบครองที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์รวมของผู้เป็นเจ้าของถึง 6 คน โดยนายเชาว์รับมรดกส่วนของนางเฮียงซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม 1 ใน 6 คน ดังกล่าวนายเชาว์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมแทนนางเฮียงที่ถึงแก่ความตายไป ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นายเชาว์เข้าครอบครองที่ดินก็โดยอาศัยสิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งอันเป็นลักษณะเข้ายึดถือแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนทั้งนายเชาว์หรือโจทก์ผู้รับมรดกส่วนของนายเชาว์ซึ่งครอบครองที่ดินติดต่อกันมาไม่ปรากฏว่าเคยแจ้งหรือบอกกล่าวถึงการเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนว่า ตนไม่เจตนาครอบครองที่ดินในฐานะเจ้าของรวมอันเป็นการแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นแม้นายเชาว์และโจทก์จะครอบครองที่ดินติดต่อกันมานานเพียงใดก็เป็นการครอบครองในลักษณะยึดถือแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคนนั่นเอง โจทก์ไม่อาจได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่ดินพิพาทจึงไม่ใช่เป็นของโจทก์แต่ผู้เดียว หากแต่ยังเป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคน
ปัญหาประการที่สองมีว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินพิพาทของโจทก์หรือไม่ เห็นว่าตามคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้นฟังได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นของโจทก์ผู้เดียวแต่เป็นของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคน แม้คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินพิพาทของโจทก์ก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองใช้คนงานเข้าไปถมดินทำรั้วสังกะสีล้อมที่ดินพิพาทไว้ทั้งสี่ด้านและทำเสาเพื่อสร้างโรงจอดรถของจำเลยที่ 2 ในที่ดินพิพาทโดยอ้างความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในส่วนของตนจำนวน 42 ตารางวา ซึ่งเท่ากับจำนวนเนื้อที่ของที่ดินพิพาทจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมทุกคน หากแต่เป็นการเข้าแย่งการครอบครองจากโจทก์ในลักษณะยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนเองมากกว่า จำเลยทั้งสองจึงไม่อาจอ้างว่าจำเลยที่ 2 เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งซึ่งตนมีสิทธิเข้าใช้ประโยชน์ได้และการกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของรวมคนอื่น ๆ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 วรรคหนึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนหนึ่งและเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนโดยตรงชอบที่จะเข้าขัดขวางและฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อรั้วถอนรั้วสังกะสีและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทได้
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์เสียหายหรือไม่เพียงใดข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันรื้อรั้วลวดหนามและตัดฟันต้นกล้วย ต้นจาก และต้นมะพร้าวของโจทก์อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่ได้ความว่ารั้วลวดหนามที่จำเลยทั้งสองรื้อถอนไปนั้นเป็นรั้วเก่าใช้มานานนับสิบปีเสารั้วผุและลวดหนามเป็นสนิมผุกร่อน ส่วนต้นกล้วย ต้นจากและต้นมะพร้าวโจทก์มิได้นำสืบว่าโตขนาดไหน ปลูกมานานเท่าไรโจทก์เรียกค่าเสียหายมารวม 11,000 บาท เห็นว่า สูงเกินไปสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์รวม 3,000 บาท ส่วนที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั้น เมื่อฟังได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่เป็นของโจทก์แต่เป็นของเจ้าของรวมทุกคนซึ่งมีโจทก์และจำเลยทั้งสองรวมอยู่ด้วย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายส่วนนี้จากจำเลยทั้งสองไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย 3,000 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share