แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า “กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย” นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297, 84
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 84 ประกอบด้วยมาตรา 87 วรรคสอง จำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายกฤษณะ ผู้เสียหาย ถูกนายโสภณใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และผู้เสียหายอ้างว่ายังมีคนร้ายอีกหลายคนร่วมทำร้ายร่างกายด้วย ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ต่อมานายโสภณถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดี
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเป็นเวลานานถึง 5 นาที ผู้เสียหายย่อมมีโอกาสจำเสียงของจำเลยได้ ซึ่งผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าเสียงที่ตะโกนด่าไล่หลังว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย เป็นเสียงของจำเลย และนางสาวชลธรพยานโจทก์ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันเช่นเดียวกับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นคงมีแต่จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเท่านั้นโดยไม่มีพนักงานคนอื่นของบริษัทเข้าโต้เถียงกับผู้เสียหายด้วย และเหตุการณ์ที่นายโสภณกับลูกน้องของจำเลยอีกหลายคนเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายก็เกิดขึ้นทันทีหลังจากจำเลยตะโกนสั่ง รูปคดีบ่งชี้ว่าจำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายแล้วเกิดอารมณ์โกรธจึงตะโกนว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย และการที่นายโสภณกับลูกน้องของจำเลยคนอื่น ๆ ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เป็นการกระทำตามที่จำเลยตะโกนสั่ง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเกิดขึ้นต่อเนื่องทันทีหลังจากมีเสียงตะโกนสั่งของจำเลย อีกทั้งโจทก์ยังมีรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมาแสดงเป็นพยานหลักฐานประกอบ โดยผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทันทีหลังจากเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามความเป็นจริงโดยไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวยังระบุคำพูดของจำเลยและรายละเอียดรวมทั้งขั้นตอนการกระทำความผิดสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาวชลธร ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาวชลธรมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากร้อยตำรวจโทโสเพชร พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวนนายโสภณให้การรับสารภาพว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเนื่องจากได้ยินเสียงจำเลยพูดทำนองว่าให้จัดการหน่อย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยสั่งให้นายโสภณกับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษานานเกินกว่า 1 เดือน และได้ความจากผู้เสียหายว่ากระดูกข้อมือซ้ายหักต้องเข้าเฝือก ระหว่างนั้นยกของหนักไม่ได้ กว่าจะหายเป็นปกติใช้เวลารักษา 2 เดือน จึงฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ถือได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนคำพูดของจำเลยที่ว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธและเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และคุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือน ต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์