คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2448/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีอำนาจวางข้อบังคับห้ามมิให้ลูกจ้างเล่นแชร์ได้ แต่การเล่นแชร์เป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งใช้บังคับได้ ไม่มีกฎหมายห้ามการเล่นแชร์ การเล่นแชร์ฝ่าฝืนข้อบังคับจึงไม่เป็นกรณีร้ายแรง
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เริ่มทำงานในวันแรก ดังนั้นการนับระยะเวลาทำงานของโจทก์จึงต้องนับวันแรกแห่งระยะเวลาอันเป็นวันเริ่มทำการงานรวมคำนวณเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158
แม้จะมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 บัญญัติถึงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างก็มิได้ซ้ำหรือขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา582 ซึ่งบัญญัติถึงการบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้าง มาตราดังกล่าวจึงยังใช้บังคับในกรณีที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยอยู่แล้วด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ยังมิได้ชำระ ค่าจ้างที่ต้องจ่ายเพราะมิได้บอกเลิกจ้างล่วงหน้า และค่าชดเชย ให้โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ประพฤติชั่วร้ายแรงเล่นแชร์ฝ่าฝืนระเบียบและไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ จำเลยเตือนแล้วไม่เชื่อฟังจำเลยจึงมีสิทธิอย่างเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือเงินใด ๆ ให้โจทก์โจทก์มิได้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2523 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนสำหรับเดือนกรกฎาคม และโจทก์ทำงานไม่ครบ 1 ปี หากมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยก็ได้เพียงเท่าอัตราเงินเดือน 1 เดือน ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การฝ่าฝืนข้อบังคับที่ห้ามเล่นแชร์ไม่เป็นกรณีร้ายแรงข้อบังคับที่ให้ถือเป็นกรณีร้ายแรงแตกต่างไปจากบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งยอมรับรองการเล่นแชร์ข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างกรณีที่มิได้บอกเลิกล่วงหน้าและค่าจ้างที่ค้างให้โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้จะไม่มีกฎหมายห้ามการเล่นแชร์จำเลยก็มีอำนาจวางข้อบังคับห้ามมิให้เล่นแชร์ได้ แต่การกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนข้อบังคับดังกล่าวจะเป็นกรณีร้ายแรงหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามลักษณะแห่งการกระทำเป็นเรื่อง ๆ ไป การเล่นแชร์ถือเป็นสัญญาอย่างหนึ่งซึ่งใช้บังคับได้ ไม่มีกฎหมายห้ามการเล่นแชร์ ดังนั้น การเล่นแชร์ฝ่าฝืนข้อบังคับจึงไม่เป็นกรณีร้ายแรง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 158 บัญญัติไว้ว่า “ถ้าระยะเวลานับเป็นวันก็ดี สัปดาห์ก็ดี เดือนหรือปีก็ดี ท่านห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเอง ตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มทำการงานกันตามประเพณี” เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จริงว่า โจทก์เริ่มทำงานในวันแรก จึงให้นับวันแรกแห่งระยะเวลาอันเป็นวันเริ่มทำงานรวมคำนวณเข้าด้วยจึงชอบแล้ว

แม้จะมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 บัญญัติถึงเรื่องการจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้าง ก็มิได้ซ้ำหรือขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ซึ่งบัญญัติถึงการบอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้างมาตราดังกล่าวจึงยังใช้บังคับแก่กรณีนี้ด้วย

พิพากษายืน

Share