คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าเงินจำนวน 76,000 บาท ที่เจ้าพนักงานยึดมาเป็นเงินที่จำเลย ได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีน เงินดังกล่าวอาจเป็นเงิน ที่จำเลยได้มาจากกิจการอื่นดังที่จำเลยอ้างก็ได้ ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบเงิน ดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิด เกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 14 เม็ด น้ำหนัก 1.26 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อขาย และจำเลยขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจำนวน 10 เม็ด น้ำหนักไม่ปรากฎชัดให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 800 บาท โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมธนบัตรฉบับละ 100 บาท จำนวน 8 ฉบับ ที่จำเลยรับจากสายลับเพื่อขายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวและยึดได้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อขายจำนวน 14 เม็ด เงินสดจำนวน 76,000 บาท ซึ่งจำเลยได้มาจากการขายวัตถุออกฤทธิ์จำนวนอื่นก่อนหน้านี้หลอดพลาสติกยาวประมาณ 10 นิ้ว 3 ถุง หลอดพลาสติกยาวที่ถูกตัดยาวประมาณ 2 นิ้ว 1 ถุง รถกระบะยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 1 พ-2836 กรุงเทพมหานคร อันเป็นทรัพย์สินเครื่องมือหรืออุปกรณ์หรือยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจากจำเลยเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ริบหลอดพลาสติกของกลางจำนวน 4 ถุงคืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อจำนวน 800 บาท แก่เจ้าพนักงานส่วนเงินสดจำนวน 76,000 บาท และรถกระบะยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 1 พ-2836 กรุงเทพมหานคร โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมาพร้อมฟ้อง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 30, 31 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534
จำเลยให้การปฏิเสธแต่รับว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 5 เม็ด เป็นของจำเลยมีไว้เพื่อเสพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนกับข้อนำสืบของจำเลยในชั้นพิจารณาบางส่วนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน ริบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ริบหลอดพลาสติกของกลางจำนวน 4 ถุง และคืนธนบัตรจำนวน 800 บาท ที่ใช้ล่อซื้อของกลางแก่เจ้าพนักงานสำหรับเงินจำนวน 76,000 บาท ของกลางให้ริบตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปีเมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน ส่วนคำร้องของ โจทก์ที่ขอให้ริบเงินสดจำนวน 76,000 บาท ของกลางให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดนั้นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของนายมนตรี เอี่ยมนำสินมีหน้าที่ดูแลรถโดยสารประจำทางสาย 56 จำนวน 4 คัน ของนายมนตรีที่นำไปวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพโดยจำเลยเป็นผู้เก็บเงินรายได้จากรถทั้ง 4 คัน ดังกล่าวและเป็นผู้จ่ายค่าบำรุงรักษารถ จ่ายเงินพิเศษให้แก่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะนำเงินที่เหลือส่งให้แก่นายมนตรีทุกวันที่ 3 ของแต่ละเดือนในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมกับตรวจค้นยึดธนบัตรได้จากตัวจำเลย 800 บาทและจากการตรวจค้นรถกระบะที่จำเลยขับและตรวจค้นบ้านของจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจอ้างว่าพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ใต้ไม้ปูพื้นรถและพบเมทแอมเฟตามีน 5 เม็ด ในกระเป๋าเสื้อของจำเลยซึ่งอยู่ในตู้เสื้อผ้ากับพบเมทแอมเฟตามีนอีก 6 เม็ด ในกระเป๋าหนังสีดำซึ่งวางอยู่ในตู้กับข้าว นอกจากนั้นยังพบเงินที่ลิ้นชักโต๊ะเครื่องแป้งและในกล่องกระดาษนับรวมกันแล้วมีจำนวน 76,000 บาท เงินจำนวน 76,000 บาทนี้เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นเชื่อว่าเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีน
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าเงินจำนวน 76,000 บาท ที่ค้นพบในบ้านของจำเลยเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ เห็นว่าเงินจำนวน 76,000 บาท ที่เจ้าพนักงานตำรวจค้นได้จากลิ้นชักโต๊ะเครื่องแป้งและที่เก็บไว้ในกล่องกระดาษม้วนกลม ๆ คล้ายกับกล่องลูกขนไก่ที่เจ้าพนักงานตำรวจพบในห้องนอนของจำเลยนั้นโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีน โจทก์คงมีเฉพาะร้อยตำรวจเอกหทัย เกษสุวรรณ์ และสิบตำรวจตรีปราโมทย์ บัวมาตย์ มาเบิกความว่า เงินจำนวน 76,000 บาท นี้น่าเชื่อว่าเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นการสันนิษฐานหรือเป็นความเห็นตามความรู้สึกของพยานเท่านั้น หาได้มีข้อเท็จจริงหรือเหตุผลอื่นใดสนับสนุนไม่ เมื่อพิจารณาถึงงานในหน้าที่ที่จำเลยทำอยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ควบคุมดูแลและรับเงินรายได้จากรถโดยสารประจำทางจำนวน4 คัน ของนายมนตรี เงินรายได้ที่หลังจากหักค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนแล้ว เหลือสุทธิเท่าใดจำเลยจะนำส่งนายมนตรี ทุกวันที่ 3 ของเดือน ซึ่งจากคำเบิกความของจำเลยและนายมนตรีได้ความว่า มีเงินเหลือสุทธิที่จำเลยจะนำส่งนายมนตรีประมาณเดือนละ 60,000 ถึง 70,000 บาท จากสมุดบัญชีรายได้ของรถโดยสารประจำทางที่จำเลยดูแลรับผิดชอบตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 น่าเชื่อว่ารถโดยสารประจำทางดังกล่าวมีรายได้พอที่จำเลยจะส่งให้นายมนตรีเจ้าของรถตามจำนวนที่จำเลยอ้างเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเงินดังกล่าว จำเลยก็อ้างตั้งแต่แรกว่าเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากค่าโดยสารรถประจำทาง เงินค่าเช่าบ้านที่จำเลยเก็บให้พี่ภรรยาของจำเลยและเงินแชร์ตามบัญชีของกลางคดีอาญาเอกสารหมาย จ.6 แผ่นที่สอง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าเงินจำนวน 76,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เงินดังกล่าวอาจเป็นเงินที่จำเลยได้มาจากกิจการอื่นดังที่จำเลยอ้างก็ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักที่จะฟังว่าเงินจำนวน 76,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนดังฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวแล้วปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบเงิน 76,000 บาท ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share