แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 เจ้าหนี้หาจำต้องเตือนหรือทวงถามก่อนไม่ เจ้าของรถผู้ถูกกระทำละเมิดย่อมเป็นเจ้าหนี้ ชอบที่จะฟ้องผู้ขับรถที่ทำละเมิดนั้นได้เลยโดยไม่ต้องทวงถามให้ใช้ค่าเสียหายก่อน ผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วชอบที่จะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามตนเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 226 และ 880 การที่ ก. ผู้เอาประกันภัยทำความตกลงกับจำเลยผู้ขับรถชนให้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่อู่ของ ส.แต่ก.ได้ให้ส. ซ่อมส่วนที่เสียหายอย่างอื่นที่มีอยู่ก่อนเกิดเหตุด้วยทำให้ระยะเวลาในการซ่อมเนิ่นนานออกไปอันทำให้โจทก์ผู้รับประกันภัยต้องเข้ามาดำเนินการซ่อมต่ออีกครั้งหนึ่งก็ดี และการที่ ก. ตกลงกับจำเลยให้นำรถยนต์เข้าซ่อมดังกล่าวเป็นการผิดข้อตกลงกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกปัดไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ก. ก็ได้แต่โจทก์กลับยอมตนเข้าชดใช้ค่าเสียหายโดยเสี่ยงภัยเอาเอง อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากจำเลยได้ก็ดีนั้น หาใช่ข้อต่อสู้ในเรื่องแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ใหม่ปัญหาดังกล่าวจำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยจะยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายก้าน ทองคำ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ฉ – 6131 กรุงเทพมหานคร ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้จากนายก้าน ไปตามถนนรามอินทราขณะจอดรถรอสัญญาณไฟจราจรที่สี่แยกมีนบุรี จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 6 ฌ – 5629 กรุงเทพมหานคร แล่นตามหลังรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ดังกล่าวด้วยความประมาทคือขับด้วยความเร็วสูงเกินจะบังคับได้เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ และรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้พุ่งไปชนท้ายรถยนต์อีกคันหนึ่งซึ่งจอดอยู่ข้างหน้า การชนดังกล่าวทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายทั้งส่วนหน้าและส่วนท้ายรถหลังเกิดเหตุจำเลยตกลงนำรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปให้อู่ซ่อม แต่ไม่ดำเนินการอย่างจริงจังและไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกัน โจทก์จึงนำรถยนต์ไปจ้างอู่ซ่อมรถให้ซ่อมแซมตามข้อกำหนดในสัญญาประกันภัย โดยจ่ายค่าแรงและค่าอะไหล่รวมเป็นเงิน 100,581 บาท และรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกเงินดังกล่าวจากจำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 มกราคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินไป ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 104,562 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 100,581 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะนายก้าน ทองคำ กับจำเลยตกลงกันให้นำรถยนต์เข้าซ่อมโดยผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย ค่าเสียหายสูงเกินส่วนและไม่ควรเกิน 45,000 บาท นายก้านจำเลย และเจ้าของอู่เคยตกลงค่าแรงซ่อมเป็นเงิน 33,000 บาท ค่าอะไหล่12,000 บาท จำเลยจ่ายค่าแรงให้เจ้าของอู่ไปแล้วจำนวน 17,000 บาท ซื้ออะไหล่ให้เจ้าของอู่ไปเกือบครบถ้วนแล้วเป็นเงิน 6,500 บาท การซ่อมล่าช้าเพราะนายก้านเพิ่มงานเปลี่ยนไฟท้ายจากแบบเล็กเป็นแบบใหญ่และให้ปะผุรถทั้งคัน ซึ่งเป็นเรื่องที่นายก้านกับเจ้าของอู่ต้องว่ากล่าวกันเอาเอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 75,565 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคือวันที่ 1 สิงหาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมาย การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า ตามวันเวลาสถานที่เกิดเหตุ จำเลยกระทำละเมิดขับรถยนต์บรรทุกด้วยความประมาทเลินเล่อชนท้ายรถยนต์เก๋งของนายก้านทองคำ ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้เสียเงินซ่อมแซมรถยนต์ของนายก้านไปแล้วเป็นเงิน 75,565 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่าหนี้รายนี้เป็นหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 เจ้าหนี้หาจำเป็นต้องเตือนหรือทวงถามก่อนไม่ เจ้าของรถผู้ถูกทำละเมิดย่อมเป็นเจ้าหนี้ และชอบที่จะฟ้องผู้ขับรถที่ทำละเมิดนั้นได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทวงถามให้ใช้ค่าเสียหายเสียก่อนผู้รับประกันภัยซึ่งได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้วชอบที่จะเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ และชอบที่จะใช้สิทธิทั้งหลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามตนเองประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 และ 880 กรณีนี้โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้ทันทีโดยหาจำต้องบอกกล่าวหรือทวงถามก่อนไม่
ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า การที่นายก้านเจ้าของรถผู้เอาประกันภัยตกลงยินยอมให้จำเลยนำรถเข้าซ่อมที่อู่ของนายสมพงษ์เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยเป็นนายสมพงษ์ หนี้มูลละเมิดเดิมที่จำเลยเป็นลูกหนี้เป็นอันระงับไปแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในเรื่องแปลงหนี้ใหม่ไว้แต่อย่างใด ที่จำเลยให้การว่า ภายหลังเกิดเหตุ นายก้านผู้เอาประกันภัยได้ทำความตกลงกับจำเลยให้นำรถยนต์เข้าซ่อมที่อู่ของนายสมพงษ์ แต่นายก้านได้ทำข้อตกลงกับนายสมพงษ์ให้ซ่อมส่วนที่เสียหายอย่างอื่นที่มีอยู่ก่อนเกิดเหตุด้วย ทำให้ระยะเวลาในการซ่อมเนิ่นนานออกไป ไม่เป็นที่พอใจของนายก้าน จนทำให้โจทก์ต้องเข้ามาดำเนินการซ่อมต่ออีกครั้งหนึ่งก็ดี และการที่นายก้านทำความตกลงกับจำเลยให้นำรถยนต์เข้าซ่อมดังกล่าวเป็นการผิดข้อตกลงกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 1.5 ข้อย่อยที่ 1.5.1 และ 1.5.2 ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกปัดไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายก้านก็ได้แต่โจทก์กลับยอมตนเข้าชดใช้ค่าเสียหายโดยเสี่ยงภัยเอาเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากจำเลยได้ก็ดี หาใช่ข้อต่อสู้ในเรื่องแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ไม่ ถือว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นทั้งไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะยกปัญหานี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ให้ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน