คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการสอบสวน บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป…การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย” และในวรรคสี่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 139 การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน” เมื่อจำเลยถูกกล่าวหาว่าพรากนางสาว จ. ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท เมื่อปรากฏว่านางสาว จ. มีอายุเพียง 17 ปีเศษ การสอบปากคำนางสาว จ. ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน จึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ โดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำต้องได้รับการร้องขอจากนางสาว จ. ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคห้าแต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาว จ. โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะเป็นการไม่ชอบแต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้พรากนางสาว จ. อายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปจาก ก. ผู้ปกครอง ผู้ดูแลนางสาว จ. แทนบิดามารดาเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 7,500 บาท จำเลยเป็นข้าราชการไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก ทั้งได้ความว่าผู้เยาว์มีส่วนขอให้จำเลยพาไปเที่ยว เห็นควรให้โอกาสจำเลยปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสี่แล้วคงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นางสาว จ. เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2526 มีภูมิลำเนาอยู่ที่ตำบลตลิ่งชัน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช แต่มาเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร โดยพักอาศัยอยู่กับ ก. ซึ่งเป็นน้าที่ขจรเกียรติอพาร์ตเมนต์ ซอยประชาชื่น 39 ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2543 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา จำเลยขับรถยนต์พานางสาว จ. ไปโรงเรียนแล้วพาไปรับประทานอาหาร จากนั้นพาไปที่บ้านน้องชายจำเลยที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี จนถึงเวลา 20.30 นาฬิกา แล้วพาไปที่สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น จากนั้นพาไปรับประทานอาหารจนถึงเวลาประมาณ 24 นาฬิกา แล้วพาไปร้านคาราโอเกะจนถึงเวลาประมาณ 3 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น จึงออกจากร้านแล้วไปเช่าอพาร์ตเมนต์นอนร่วมเตียงเดียวกันจนรุ่งเช้าเวลาประมาณ 8 นาฬิกา จำเลยจึงพานางสาว จ. ไปเอากระเป๋านักเรียนที่บ้านเพื่อนแล้วพาไปส่งยังที่พัก ต่อมาหลังจาก ก. สอบถามเรื่องราวจากนางสาว จ. แล้วจึงพานางสาว จ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น พันตำรวจโทสถาพรส่งตัวนางสาว จ. ไปให้ร้อยตำรวจเอกหญิงชุติมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ เป็นผู้สอบคำให้การ คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การสอบสวนคดีนี้ได้กระทำโดยชอบหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุนางสาว จ. อายุเพียง 17 ปี ในการสอบสวนจึงต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมรับฟังการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนนางสาว จ. ตามลำพังโดยไม่มีบุคคลดังกล่าวร่วมรับฟังการสอบสวน จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการสอบสวนคดีนี้ บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป… การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสังเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย” และในวรรคสี่บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 139 การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน” คดีนี้จำเลยถูกกล่าวหาว่าพรากนางสาว จ. ผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท เมื่อปรากฏว่านางสาว จ. มีอายุเพียง 17 ปีเศษการสอบปากคำนางสาว จ. ไม่ว่าในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน จึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสี่ โดยไม่มีข้อยกเว้น และไม่จำต้องได้รับการร้องขอจากนางสาว จ. ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลตามวรรคหนึ่งได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า แต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำนางสาว จ. โดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แต่ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share