คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจรและจำเลยพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง และบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาต่อท้ายคำให้การของจำเลยว่าอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องและมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่าในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง เมื่อพิจารณาแล้วพอแปลความหมายคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร การที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระหว่างความผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง และพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งก็ตรงกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนด้วย ทั้งการแปลความหมายเช่นนี้ ย่อมเป็นการตีความตรงตามเจตนาที่แท้จริงของจำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กระเป๋าของกลางในการปิดบังซุกซ่อนทรัพย์ที่คนร้ายลักมาเท่านั้น จำเลยมิได้ใช้กระเป๋าเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์ จึงถือไม่ได้ว่ากระเป๋าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก 1 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 เวลากลางวัน มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักลวดทองแดงสายไฟฟ้าที่ปอกฉนวนแล้วขนาดต่างๆ 10 มัด น้ำหนักรวม 20 กิโลกรัม ราคา 4,600 บาท ของบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ไป ทั้งนี้ จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้าง หรือมิฉะนั้นจำเลยกับพวกร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไป โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 เวลากลางวัน จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลม ใบมีดทำด้วยใบเลื่อยตัดเหล็กขนาดยาว 10 นิ้ว 1 เล่ม ติดตัวไปบริเวณถนนสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ก่อนคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2548 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ในความผิดฐานเล่นการพนันไฮโลว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5631/2548 ของศาลแขวงสมุทรปราการ ภายในกำหนดเวลาที่รอการลงโทษดังกล่าว จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้อีก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 83, 91, 334, 357, 371 ริบมีดและกระเป๋าของกลาง บวกโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5631/2548 ของศาลแขวงสมุทรปราการเข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83), 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้าง จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 100 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 50 บาท บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5631/2548 ของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 50 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบมีดและกระเป๋าของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี บวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5631/2548 ของศาลแขวงสมุทรปราการ เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ เป็นจำคุก 1 ปี 6 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจร และจำเลยพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง และบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาต่อท้ายคำให้การของจำเลยว่าอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน แล้วศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง, 371 เห็นว่า คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้องและมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง และหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษเท่านั้นโดยมิได้โต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้ให้การรับสารภาพในความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การของจำเลยและรายงานกระบวนพิจารณาประกอบคำฟ้องและข้ออุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวแล้ว พอแปลความหมายคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์จายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร การที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระว่างความผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องแล้ว ซึ่งก็ตรงกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนด้วย ทั้งการแปลความหมายเช่นนี้ ย่อมเป็นการตีความตรงตามเจตนาที่แท้จริงของจำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาลักทรัพย์นายจ้างเท่านั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษายืนตามกันมาให้ริบกระเป๋าของกลางนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้กระเป๋าของกลางดังกล่าวในการปิดบังซุกซ่อนทรัพย์ที่คนร้ายลักมาเท่านั้น จำเลยมิได้ใช้กระเป๋าเป็นเครื่องมือหรือส่วนหนึ่งในการลักทรัพย์จึงถือไม่ได้ว่ากระเป๋าเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลล่างทั้งสองสั่งริบมานั้นไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่ริบกระเป๋าของกลาง และให้คืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของ

Share