แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่ลงมือก่อสร้างอาคารหรือทำงานล่าช้าหยุดงานบ่อยจนผลงานไม่ปรากฏล้วนอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์โดยตลอด โจทก์ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจำเลยน่าจะต้องละทิ้งงานและเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีแต่ต้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่โจทก์กลับละเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าวจนครบกำหนดอายุสัญญา และยังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปอีก โดยโจทก์บอกเลิกสัญญาหลังจากสัญญาครบกำหนดแล้วถึง 11 เดือน และให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่โจทก์กำหนดให้สัญญามีผลเลิกกันนั้น ล่วงเลยวันที่สัญญาครบกำหนดอายุแล้วนานถึง 6 เดือน โดยไม่ปรากฏเหตุผลสำคัญอย่างอื่นให้เห็นถึงเหตุขัดข้องที่กระทำดังกล่าวโจทก์เพิ่งจะมาทำสัญญาว่าจ้างบริษัทท. ให้ทำการก่อสร้างอาคารต่อจากที่จำเลยทำไว้จนแล้วเสร็จหลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วเป็นเวลา1 ปี 7 เดือน โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ล่าช้า จึงเห็นได้ว่าความล่าช้าต่าง ๆ อันมีผลทำให้ราคาค่าก่อสร้างงานสูงทวีขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปนั้นเกิดจากการดำเนินงานของโจทก์รวมอยู่ด้วย แม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยตามสัญญาจ้าง ข้อ 19(1) และมีสิทธิเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลยก็ตาม แต่ก็ถือว่าเงินค่าปรับตามที่คู่สัญญากำหนดไว้ และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นกรณีมีการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อความเสียหายเกิดจากความล่าช้าในการดำเนินงานของโจทก์รวมอยู่ด้วย ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ สัญญาจ้างข้อ 19(1) กำหนดสิทธิของโจทก์ในกรณีที่จำเลย ส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญาว่าโจทก์มีสิทธิปรับเป็นรายวัน และวรรคท้ายของสัญญานี้ยังกำหนดสิทธิของโจทก์เอาไว้อีกว่า ในระหว่างที่มีการปรับนั้นถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติ ตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญา และใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 20 นอกเหนือจากการปรับ จนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยซึ่งตามสัญญาข้อ 20 ระบุถึงเรื่องค่าเสียหายอะไรบ้างที่โจทก์จะเรียกร้อง เอาจากจำเลยได้ ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จากสัญญา ข้อ 19 และข้อ 20 ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หากจำเลยส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดอันเป็นการผิดสัญญาแล้วโจทก์มีสิทธิจะปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันได้ตามสัญญาข้อ 19(1) นอกจากนั้นแล้วถ้าหากโจทก์เห็นว่า จำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์ก็ยัง มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย ตามสัญญาข้อ 20 จากจำเลยได้ตาม สัญญาข้อ 19 วรรคท้าย สิทธิที่จะเรียกเอาค่าปรับรายวันกับสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายดังกล่าว แม้จะเป็นสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างโจทก์ กับจำเลยตามสัญญาจ้างข้อเดียวกัน แต่ก็เป็นสิทธิ ที่แยกต่างหากจากกัน โจทก์จะเลือกใช้สิทธิ อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกรณีเดียว หรือเลือกใช้สิทธิ ทุกกรณีก็ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้ลงมือก่อสร้างใด ๆ เพื่อส่งมอบงานให้โจทก์ได้ทันภายในกำหนดตามสัญญาจ้าง แต่ก่อนโจทก์จะบอกเลิกสัญญา โจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลย แจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับเป็นรายวัน ในสัญญาจ้าง ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอา ค่าปรับรายวันตามสัญญาข้อ 19(1) แล้ว เพราะ หลังจากครบกำหนดเวลาแล้ว โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญา ทันที่ จนกระทั่งปรากฏว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้าย ต่อเนื่องกับ สัญญาข้อ 20 อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดกับสิทธิ ในการที่โจทก์จะปรับจำเลยเป็นรายวันตามสัญญา ข้อ 19(1) เพราะโจทก์ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้ง มาแต่แรกแล้วว่าจะใช้สิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาจ้างได้ แม้จำเลยจะยังมิได้ลงมือก่อสร้างใด ๆตามสัญญาก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยผิดสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารและบ้านพักรวม 2 สัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 9,752,966.67 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,179,073 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 4,005,003 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 262,500 บาท นับแต่วันที่27 พฤษภาคม 2533 และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันในต้นเงิน3,742,503 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2530 โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารหลายหลังเป็นเงิน7,850,000 บาท กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในวันที่28 กรกฎาคม 2531 และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2531 โจทก์ที่ 1มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยก่อสร้างอาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่เป็นเงิน 1,797,822 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 11 มกราคม 2532 ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.12และ จ.13 ต่อมาจำเลยได้รับอนุมัติให้ต่ออายุสัญญาว่าจ้างทั้งสองฉบับรวม 2 ครั้ง สัญญาฉบับแรกสิ้นสุดวันที่ 23 มิถุนายน 2532สัญญาฉบับที่สองสิ้นสุดวันที่ 7 ธันวาคม 2532 จำเลยก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ที่ 3 มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับเป็นรายวันต่อมาโจทก์ที่ 2 บอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2532 ต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2534โจทก์ที่ 3 ทำสัญญาจ้างบริษัทไทยเทคนิเชี่ยนคอนแทรกเตอร์ จำกัดก่อสร้างอาคารต่อจากที่จำเลยทำไว้แล้ว เป็นเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างฉบับแรก 14,111,168 บาท เพิ่มขึ้นจากราคาค่าก่อสร้างเดิมที่ตกลงจ้างจำเลย 6,261,168 บาท และเป็นเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาฉบับที่สอง 5,200,000 บาท เมื่อหักค่าถมดินซึ่งเป็นการก่อสร้างเพิ่มเติมจากสัญญาเดิม2,178,340 บาท ออกแล้ว ค่าจ้างก่อสร้างตามสัญญาฉบับที่สองเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,223,838 บาท
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับเบี้ยปรับตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.12วันละ 3,925 บาท ตามที่กำหนดในข้อสัญญาและมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าจ้างที่โจทก์ทั้งสามต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะโจทก์ทั้งสามจ้างบุคคลอื่นมาทำงานก่อสร้างต่อจากจำเลยจนแล้วเสร็จเป็นจำนวนเพียงใด และโจทก์ทั้งสามมีสิทธิปรับจำเลยเป็นรายวันวันละ 899 บาท ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.13 หรือไม่ในปัญหาแรกเห็นว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.12 กำหนดให้จำเลยก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2531หลังจากครบกำหนดอายุสัญญาแล้ว จำเลยก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามกำหนด และมีการต่ออายุสัญญาจ้างให้จำเลย 2 ครั้งครั้งสุดท้ายครบกำหนดอายุสัญญาวันที่ 23 มิถุนายน 2532ส่วนสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.13 กำหนดให้จำเลยก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 11 มกราคม 2532และมีการต่ออายุสัญญาจ้างให้จำเลย 2 ครั้งเช่นกันในการทำงานของจำเลยโจทก์มีนายสุนทร กุลละวณิชย์เจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ของโจทก์ที่ 2 และได้รับแต่งตั้งเป็นนายช่างควบคุมการก่อสร้างในคดีนี้ ดังนั้น การก่อสร้างของจำเลยจึงอยู่ในความควบคุมดูแลและตรวจตราของโจทก์ทุกระยะ ซึ่งโจทก์ย่อมจะต้องทราบดีกว่าจำเลยทำงานไปได้มากน้อยเท่าใดแล้วตามระยะเวลาที่กำหนด และสามารถประเมินหรือคาดการณ์ได้ล่วงหน้าถึงผลงานของจำเลยที่ปรากฏ ว่าจำเลยสามารถทำการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างหรือไม่ โดยดูจากผลงานที่จำเลยได้ลงมือทำไปบ้างแล้วประกอบระยะเวลาการทำงานที่ยังคงเหลืออยู่นายสุนทรพยานโจทก์เบิกความว่า ได้ตรวจงานก่อสร้างของจำเลยและทำบันทึกรายงานการตรวจงานลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2532ไว้ว่า ในวันดังกล่าวจำเลยเพียงแต่ถมดินและดอกเสาเข็มอาคารที่จะก่อสร้างและวางฐานรากอาคารบ้านพักได้เพียง 1 หลังเท่านั้น ยังเหลืองานอื่นที่จะต้องทำตามข้อตกลงส่งมอบงานงวดที่ 1อีกมาก รายงานดังกล่าวจัดทำขึ้นก่อนครบกำหนดอายุสัญญาจ้างฉบับแรกซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 23 พฤษภาคม 2532 เพียงประมาณ1 เดือนเท่านั้น นับว่าใกล้ชิดกับวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างอย่างมาก และยังมีข้อความระบุถึงการทำงานของจำเลยว่า จำเลยทำงานครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2532 โดยตอกเสาเข็มอาคารที่จะทำการก่อสร้างแล้วจำเลยก็หยุดงานไปเลย ส่วนการทำงานตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.13 นั้น หลังจากต่ออายุสัญญาจ้างแล้วจำเลยต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 ธันวาคม 2532 นายสุนทรได้ตรวจดูการทำงานของจำเลยเป็นระยะ ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการก่อสร้างใด ๆ ทั้งสิ้นการกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถก่อสร้างงานแล้วเสร็จตามกำหนดและไม่ลงมือทำการก่อสร้างจนโจทก์ต้องต่ออายุสัญญาจ้างให้ถึง 2 ครั้ง และจวนจะครบกำหนดระยะเวลาที่ต่อให้ดังกล่าวแต่การทำงานของจำเลยไม่คืบหน้าเท่าที่ควรจะเป็นการที่จำเลยไม่ลงมือทำการก่อสร้างอาคารหรือทำงานล่าช้าหยุดงานบ่อยจนผลงานไม่ปรากฏ ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยไม่สามารถก่อสร้างอาคารและบ้านพักให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ได้ทันตามกำหนด แม้จะมีการเร่งรัดให้การทำงานรวดเร็วขึ้นเพียงใดก็ตาม พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยจึงย่อมจะต้องอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์โดยตลอดและเล็งเห็นได้ว่าจำเลยน่าจะต้องละทิ้งงานและเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีแต่ต้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากยิ่งขึ้นแต่โจทก์กลับละเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าวจนครบกำหนดอายุสัญญาและยังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปอีก โดยโจทก์บอกเลิกสัญญาหลังจากสัญญาครบกำหนดแล้วถึง 11 เดือน โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2532 ซึ่งวันที่โจทก์กำหนดให้สัญญามีผลเลิกกันนั้น ล่วงเลยวันที่สัญญาครบกำหนดอายุแล้วนานถึง6 เดือน โดยไม่ปรากฏเหตุผลสำคัญอย่างอื่นให้เห็นถึงเหตุขัดข้องที่กระทำดังกล่าว โจทก์เพิ่งจะมาทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเทคนิเชี่ยนคอนแทรคเตอร์ จำกัด ให้ทำการก่อสร้างอาคารต่อจากที่จำเลยทำไว้จนแล้วเสร็จเมื่อวันที่22 กรกฎาคม 2534 หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วเป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ล่าช้าจึงเห็นได้ว่าความล่าช้าต่าง ๆ อันมีผลทำให้ราคาค่าก่อสร้างงานสูงทวีขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปนั้น เกิดจากการดำเนินงานของโจทก์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยตามสัญญาจ้างข้อ 19(1) และมีสิทธิเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลย ตามข้อ 20ของเอกสารหมาย จ.12 และ จ.13 ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเงินค่าปรับตามที่คู่สัญญากำหนดไว้นั้น และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นกรณีมีการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรกถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้อันแสดงว่าเบี้ยปรับนั้นแม้จะได้กำหนดไว้ในสัญญาแต่ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น หรือจะต้องมีจำนวนเท่าที่โจทก์ขอมาเสมอไปโดยจะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างของเจ้าหนี้ประกอบ มิใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินที่โจทก์จะต้องเสียเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่จะต้องดูเหตุผลแห่งการที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อความเสียหายเกิดจากความล่าช้าในการดำเนินการของโจทก์รวมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้และจำนวนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้น เห็นว่าพอเหมาะสมดีแล้ว
ในปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิปรับจำเลยเป็นรายวันตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.13 หรือไม่นั้น เห็นว่า สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 19(1) กำหนดสิทธิของโจทก์ในกรณีที่จำเลยส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญาว่าโจทก์มีสิทธิปรับเป็นรายวัน นอกจากนั้นแล้วในวรรคท้ายของสัญญาข้อ 19ดังกล่าวยังกำหนดสิทธิของโจทก์เอาไว้อีกว่า “ในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและใช้สิทธิตามสัญญาข้อ 20นอกเหนือจากการปรับ จนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วย” ซึ่งตามสัญญาข้อ 20 ระบุถึงเรื่องค่าเสียหายอะไรบ้างที่โจทก์จะเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ถ้าโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จากสัญญาข้อ 19 และข้อ 20 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าหากจำเลยส่งมอบงานล่าช้ากว่ากำหนดอันเป็นการผิดสัญญาแล้ว โจทก์มีสิทธิจะปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวันได้ตามสัญญาข้อ 19(1) นอกจากนั้นแล้วถ้าหากโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายตามสัญญาข้อ 20 จากจำเลยได้อีกด้วย ตามสัญญาข้อ 19 วรรคท้ายซึ่ง สิทธิที่จะเรียกเอาค่าปรับรายวันกับสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายดังกล่าว แม้จะเป็นสิทธิที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามสัญญาจ้างข้อเดียวกันก็ตาม แต่ก็เป็นสิทธิที่แยกต่างหากจากกัน โจทก์จะเลือกใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงกรณีเดียว หรือเลือกใช้สิทธิทุกกรณีก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ลงมือก่อสร้างใด ๆ เพื่อส่งมอบงานให้โจทก์ได้ทันภายในกำหนดตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.13 ดังที่ได้ความจากคำเบิกความของนายสุนทรพยานโจทก์ประกอบบันทึกข้อความตามเอกสารหมาย จ.18 แต่ก่อนโจทก์จะบอกเลิกสัญญาโจทก์ที่ 3 ได้มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับเป็นรายวันในสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.13 ย่อมเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าปรับรายวันต่อสัญญาข้อ 19(1) แล้วเพราะหลังจากครบกำหนดเวลาแล้วโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาทันที จนกระทั่งปรากฏว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้โจทก์จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิตามสัญญาข้อ19 วรรคท้าย ต่อเนื่องกับสัญญาข้อ 20 อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่ขัดกับสิทธิในการที่โจทก์จะปรับจำเลยเป็นรายวันตามสัญญาข้อ 19(1)แต่อย่างใด เพราะโจทก์ได้แสดงเจตนาโดยชัดแจ้งมาแต่แรกแล้วว่าจะใช้สิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.13ได้ แม้จำเลยจะยังมิได้ลงมือก่อสร้างใด ๆ ตามสัญญาก็ตามส่วนปัญหาที่ว่าค่าปรับรายวันควรมีจำนวนเท่าใดนั้น เห็นว่าเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างดังเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น เห็นสมควรกำหนดค่าปรับให้วันละ400 บาท รวมเวลา 8 วัน เป็นเงิน 3,200 บาท เมื่อรวมค่าปรับรายวันสองสัญญาแล้วเป็นเงิน 265,700 บาทค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 4,008,203 บาทให้แก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 265,700 บาท นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2533 และดอกเบี้ยอัตราเดียวกันในต้นเงิน 3,742,503 บาท นับแต่วันที่12 มกราคม 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์