คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยมีสาเหตุกันอยู่ก่อนแล้วแต่หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยก็แยกกันไปสาเหตุครั้งแรกจึงสิ้นสุดไปแล้ว เมื่อต่อมาผู้เสียหายที่ 1พาส.มาพบจำเลยในลักษณะที่ฝ่ายผู้เสียหายที่ 1มีจำนวนมากกว่าแล้วผู้เสียหายที่ 1 เข้าตบหน้าจำเลยอันเป็นการประทุษร้ายต่อจำเลยเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่การที่จำเลยใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหายที่ 1 ถึง 2 นัด โดยเฉพาะการยิงนัดที่ 2ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้วิ่งหนีไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 69

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80และมาตรา 72 จำคุก 6 ปี ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ฐานมีอาวุธปืนจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุกฐานมีอาวุธปืน 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืน 3 เดือนรวมจำคุก 6 ปี 9 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80, 72พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเหตุบันดาลโทสะลงโทษจำคุก 2 ปี ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78หนึ่งในสาม คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมกับโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนคงจำคุก 2 ปี 1 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาข้อเดียวว่า ผู้เสียหายที่ 1ได้นำพรรคพวกมาตบหน้าและทำร้ายจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ข้อนี้ ผู้เสียหายที่ 1เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ก่อนเกิดเหตุใช้มือผลักหน้าจำเลยจำเลยชักอาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 หันหลังวิ่งหนีระหว่างวิ่งได้ยินเสียงปืนดังอีก 1 นัด นายสถาพร สารเพชรพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 1 เดินเข้าไปตบหน้าจำเลยทันทีโดยไม่ได้มีการพูดคุยกัน จำเลยชักอาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 1 นัด ผู้เสียหายที่ 1 กลับหลังวิ่งไปทางถนนใหญ่ จำเลยบรรจุกระสุนแล้วไล่ตามผู้เสียหายที่ 1และมีเสียงปืนดัง 1 นัด นายวิชิต ตันสกุลเบิกความเป็นพยานโจทก์ทำนองเดียวกัน ร้อยตำรวจเอกปรีชาพล นะลิตาพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธโดยให้การว่าขณะจำเลยกำลังนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์เพื่อดูภาพยนตร์มีชายวัยรุ่น 2 คนขับรถจักรยานยนต์ผ่านมาแล้วกระแทกกับรถจำเลย จำเลยทราบชื่อภายหลังว่าผู้ขับคือนายกำพล จำเลยจึงพูดว่ามึงกระแทก รถกูทำไมนายกำพลลงจากรถแล้วพูดว่า ทำไมจะกระแทกไม่ได้และให้รออยู่แล้วจะไปตามพรรคพวกมา ต่อมานายกำพลได้พาพรรคพวกมาชกต่อยจำเลย พวกนายกำพลได้ชักอาวุธมีดปลายแหลมออกมาจะแทงจำเลย จำเลยจึงได้ชักอาวุธปืนลูกซองพกออกจากเอวด้านขวาแล้วยิงนายกำพลไป 2 นัด จะถูกหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ขณะที่จำเลยไล่ยิงนายกำพล นายกำพลได้วิ่งไปทางถนนใหญ่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยมีสาเหตุกันอยู่ก่อนแล้ว แต่หลังจากนั้นผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยก็แยกกันไป สาเหตุครั้งแรกจึงสิ้นสุดไปแล้วเมื่อต่อมาผู้เสียหายที่ 1 พานายสถาพรมาพบจำเลยในลักษณะที่ฝ่ายผู้เสียหายที่ 1 มีจำนวนมากกว่า แล้วผู้เสียหายที่ 1 เข้าตบหน้าจำเลยอันเป็นการประทุษร้ายต่อจำเลยเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่การที่จำเลยใช้ปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหายที่ 1 ถึง 2 นัด โดยเฉพาะการยิงนัดที่ 2 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้วิ่งหนีไปแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 69 ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดไว้เหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 69 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share