คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3185/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายสินค้าให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบกซึ่งมีโจทก์เป็นนายหน้า จึงถือไม่ได้ว่าสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักร การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 1 ณ สถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานที่จำเลยที่ 2 ใช้ประกอบกิจการจึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 3 (2) (ข), 83 ทวิ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทการค้าต่างประเทศ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศเบลเยี่ยม จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยเพื่อดำเนินธุรกิจแทนจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณปลายปี 2542 จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ชี้ช่องหรือเป็นตัวแทนการค้าในประเทศไทยโดยกำหนดเงื่อนไขการชำระค่าตอบแทนให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายสินค้าให้กรมสรรพาวุธทหารบก ผ่านจำเลยที่ 2 ตัวแทนช่วงของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทย โดยการชี้ช่องของโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าด้วยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จากนั้นวันที่ 4 มกราคม 2543 จำเลยที่ 1 ยืนยันฐานะและอำนาจกระทำการของโจทก์และยืนยันผลประโยชน์จะให้ค่านายหน้าร้อยละ 22 แก่โจทก์ และเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2543 กับวันที่ 2 ตุลาคม 2543 จำเลยที่ 1 ได้ยืนยันราคาสินค้าและค่านายหน้าของโจทก์อีกครั้ง โจทก์ทำหน้าที่แล้วเสร็จจนจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขาย และมีการโอนเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้วหลายงวด โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่านายหน้า แต่จำเลยกลับปฏิเสธที่จะจ่ายค่านายหน้าเป็นเงิน 73,971.04 ยูโร คิดเป็นเงินไทยจำนวน 2,958,841 บาท แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายไม่ได้รับค่านายหน้าดังกล่าว และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสารคู่มือประกอบสินค้าของฝ่ายจำเลยอีกเป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหาย 3,158,841 บาท ซึ่งโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยของจำนวนเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องในต้นเงิน 2,958,841 บาท เป็นงวด ๆ คิดเป็นเงิน 69,280 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,228,121 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 3,158,841 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยทั้งสองชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการดำเนินธุรกิจการค้า จำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องหรือรับรู้การที่จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้ชี้ช่องหรือเป็นตัวแทนในประเทศไทย รวมถึงการที่โจทก์ชี้ช่องให้มีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับกรมสรรพาวุธทหารบก และการที่จำเลยที่ 1 ยืนยันฐานะ อำนาจ และผลประโยชน์ค่านายหน้าที่โจทก์จะได้รับ จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใดกับโจทก์ การทำสัญญาซื้อขายตามฟ้องเป็นการทำสัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 ในนามของจำเลยที่ 2 เอง กับกรมสรรพาวุธทหารบก จำเลยที่ 2 ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปในนามของตน มิได้ทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวโจทก์ไม่ได้ชี้ช่องให้มีการซื้อขายตามที่กล่าวอ้าง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 73,917.04 ยูโร พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 6 พฤษภาคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจะชำระเป็นเงินบาทให้คำนวณอัตราแลกเปลี่ยนตามอัตราถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ ณ วันเวลาและสถานที่ที่มีการชำระเงินนั้น ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ แต่เมื่อคำนวณเป็นเงินสกุลบาทแล้วไม่ให้เกิน 2,958,841 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามที่คู่ความนำสืบรับกันและตามคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่คู่ความมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า กรมสรรพาวุธทหารบกทำสัญญาซื้อเครื่องตรวจกระสุนและวัตถุระเบิดด้วยรังสีเอกซ์ (เครื่องเอกซ์เรย์) แบบติดตั้งประจำที่ซึ่งเป็นสินค้าของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขายตามสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งเอกสารหมาย จ.17 ในการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยที่ 1 ตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายหน้าชี้ช่องให้จำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้านั้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องชำระค่าแปลเอกสารจำนวน 200,000 บาท และร่วมรับผิดชำระค่านายหน้าบางส่วนจำนวน 280,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายมนต์ชัยและนายกิติกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในประเทศไทยเข้าประกวดราคาขายเครื่องเอกซ์เรย์กระสุนและวัตถุระเบิดให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบก ตามสำเนาหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.30 ส่วนจำเลยที่ 2 มีนายกชพงษ์กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 2 ให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายสินค้าดังกล่าวให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบก หากแต่จำเลยที่ 2 ซื้อสินค้าดังกล่าวมาจากจำเลยที่ 1 แล้วทำสัญญาขายให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบกในนามของจำเลยที่ 2 เอง ตามสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งเอกสารหมาย จ.17 เห็นว่า แม้โจทก์จะมีสำเนาหนังสือแต่งตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.30 มาอ้างส่งศาลมีความว่าจำเลยที่ 1 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนสำหรับโครงการของกองทัพไทย โดยเอกสารนี้เป็นสำเนาโทรสารซึ่งส่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 แต่ในเอกสารไม่ปรากฏข้อความหรือรายละเอียดใด ๆ ว่า จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เสนอขายและทำสัญญาขายเครื่องตรวจกระสุนและวัตถุระเบิดด้วยรังสีเอกซ์เรย์แบบติดตั้งประจำที่ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ทั้งในใบเสนอราคาขายเครื่องเอกซ์เรย์นี้ที่อยู่ในชุดเอกสารหมาย จ.19 และในหนังสือสัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งเอกสารหมาย จ.17 ก็เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 โดยนายกชพงษ์กรรมการผู้มีอำนาจเป็นผู้ขายกับนายกชพงษ์ลงนามเป็นผู้ขายเครื่องเอกซ์เรย์ดังกล่าวให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบกในนามของจำเลยที่ 2 เอง นอกจากนี้ ยังปรากฏตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย ล.3 ว่า ในการทำสัญญาซื้อขายสินค้าดังกล่าวธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาเจริญผล ได้ทำสัญญาค้ำประกันความเสียหาย ค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาแก่กรมสรรพาวุธทหารบก โดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยที่ 1 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย พยานอีกปากหนึ่งของโจทก์คือพันเอกวันชัยซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบคุณลักษณะเฉพาะสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธของกรมสรรพาวุธทหารบกที่กำหนดคุณลักษณะของเครื่องเอกซ์เรย์ดังกล่าวได้เบิกความว่า ในกรณีผู้ผลิตซึ่งเข้าประกวดราคาเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ แต่ไม่ได้เข้ามาประมูลด้วยตนเอง บริษัทนิติบุคคลนั้นจะต้องแต่งตั้งตัวแทนในประเทศไทย โดยมีสถานทูตรับรองเอกสารการตั้งตัวแทน และพยานได้ตอบคำถามค้านว่า ในการนี้ผู้รับมอบอำนาจจะต้องกระทำในนามของนิติบุคคลต่างประเทศด้วย ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของพันเอกศักดาพยานจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าจัดหาศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก ที่ว่ากรณีกรมสรรพาวุธทหารบกทำสัญญากับนิติบุคคลต่างประเทศ ก็จะระบุชื่อนิติบุคคลต่างประเทศในสัญญา แต่หากบริษัทนั้นมีตัวแทนในประเทศไทยก็จะระบุชื่อตัวแทนไว้ในสัญญา และมีโนตารีปับลิกรับรองหนังสือมอบอำนาจ กับมีสถานทูตไทยประจำต่างประเทศนั้นรับรองด้วยเหมือนดังเช่นที่ปรากฏในสัญญาซื้อขายกระสุนปืนใหญ่เอกสารหมาย จ.4 นายมนต์ชัยพยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 ประกวดราคาขายสินค้าพิพาทให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบกในฐานะของจำเลยที่ 2 เอง ฉะนั้น จึงเห็นว่า ลำพังแต่หนังสือแต่งตั้งตัวแทนเอกสารหมาย จ.30 ซึ่งโจทก์อ้างส่งประกอบคำเบิกความของนายมนต์ชัยและนายกิติกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจกระสุนและวัตถุระเบิดให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบก ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายเครื่องเอกซ์เรย์กระสุนและวัตถุระเบิดให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบก จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีนิติสัมพันธ์หรือข้อตกลงกับโจทก์ที่จะชำระค่าคำแปลเอกสารและค่านายหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าแปลเอกสารและค่านายหน้าให้แก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น และเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายสินค้าดังกล่าวให้แก่กรมสรรพาวุธทหารบก จึงถือไม่ได้ว่าสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 1 ณ สถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่หรือสำนักทำการงานที่จำเลยที่ 2 ใช้ประกอบกิจการจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 3 (2) (ข), 83 ทวิ และมีผลให้กระบวนพิจารณาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และให้ศาลดังกล่าวดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีแก่จำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้ศาลรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ในชั้นนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share