คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ใบสั่งจ่ายสินค้าที่โจทก์ร่วมมอบให้แก่ ส. ผู้รับจ้างขนส่งปุ๋ยเป็นเพียงหลักฐานเพื่อนำไปเบิกปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 รับซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าจาก ท. ซึ่งเป็นผู้รับจ้างขนส่งช่วงจาก ส. โดยคิดตามมูลค่าปุ๋ยที่ระบุในใบสั่งจ่ายสินค้าโดยต้องการนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปรับปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วม มิใช่เป็นการรับซื้อเฉพาะใบสั่งจ่ายสินค้า ทั้ง ท. รู้ว่าจำเลยที่ 1 จะนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปรับปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์ของตน ท. และจำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวการร่วมกันลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายสินค้า การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมมิใช่เป็นเพียงรับของโจรใบสั่งจ่ายสินค้า
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร และจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันเอาปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 จำนวน 522 ถุง น้ำหนักถุงละ 50 กิโลกรัม รวมหนัก 26.100 ตัน ราคา 200,000 บาท และถุงปุ๋ยจำนวน 131 ใบ ราคา 1,000 บาท รวมราคา 201,000 บาท ของบริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยใช้รถยนต์บรรทุก 1 คัน เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ครอบครองปุ๋ยและถุงปุ๋ยดังกล่าว ทั้งนี้จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมกับจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปหรือมิฉะนั้นจำเลยที่ 1 รับของโจรโดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับเอาทรัพย์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 กับพวกโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 (1) (7), 336 ทวิ, 357 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 201,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง จำคุก 6 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนปุ๋ยตามฟ้องหรือใช้ราคาเป็นเงิน 200,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง โจทก์ร่วมได้ขายปุ๋ยสูตร 16-20-0 จำนวน 522 ถุง น้ำหนักรวม 26.100 ตัน ราคา 200,000 บาท และถุงปุ๋ย 131 ใบ ราคา 1,000 บาท ให้แก่บริษัทเจ้าพระยาพืชไร่ จำกัด เพื่อจำหน่ายต่อให้แก่สำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยว่าจ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดธนากร โดยนายสุชาติเป็นผู้ขนส่งไปเก็บไว้ที่โกดังของชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดเชียงราย และมอบใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 ที่ประทับตราว่า ห้ามซื้อขาย ให้แก่ผู้ขนส่งเพื่อนำไปรับสินค้าปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วมไปส่งตามที่ตกลง แต่นายสุชาติได้ว่าจ้างให้นายทศพลรับขนช่วงอีกต่อหนึ่ง โดยมอบใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่นายทศพลนำไปรับสินค้าปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วมไปส่งแทน ต่อมามีคนลักปุ๋ยจำนวน 522 กระสอบ ราคา 200,000 บาท ของโจทก์ร่วมดังกล่าวไปโดยใช้ใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 ที่นายสุชาติมอบให้แก่นายทศพลไปเบิกสินค้าปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายภูมิเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2541 เวลาประมาณ 16 หรือ 17 นาฬิกา มีจำเลยที่ 2 นำใบสั่งจ่ายสินค้าของโจทก์ร่วมตามเอกสารหมาย จ.1 มารับสินค้าปุ๋ย จำนวน 522 กระสอบ โดยใช้รถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 80-1259 สิงห์บุรี มารับสินค้า และให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในช่องผู้รับสินค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็เบิกความยอมรับในข้อนี้และยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 นำใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 มาว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ไปรับปุ๋ยมาให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ร้านสอิ้งการเกษตร และโจทก์กับโจทก์ร่วมยังมีนางอารีรัตน์และนายสุชาติมาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า หลังจากทราบว่ามีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับปุ๋ยไปจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วมที่ได้ตามไปสอบถาม จำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ขนปุ๋ยไปส่งที่ร้านสอิ้งการเกษตรของจำเลยที่ 1 แล้วพาพยานทั้งสองไปพบจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าครั้งแรกไม่ทราบว่าเป็นปุ๋ยของทางราชการ เมื่อรถนำปุ๋ยมาส่งจึงทราบ นายสุชาติขอสินค้าคืน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืนให้อ้างว่าได้ซื้อปุ๋ยจากนายทศพลและจำหน่ายไปหมดแล้ว และไม่ยอมชดใช้เงินแทน เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ย่อมไม่เบิกความปรักปรำให้ร้ายแก่จำเลยที่ 1 โดยปราศจากความจริง โดยเฉพาะนางอารีรัตน์และนายสุชาติที่สามารถติดตามไปพบจำเลยที่ 1 ได้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้พาไป จึงเชื่อว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมเบิกความตามความจริง นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังมีนายวันชัย นายสุรินทร์ นายสายยนต์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2541 เวลาประมาณ 11.30 นาฬิกา พยานทั้งสามได้ร่วมกันรับจ้างจำเลยที่ 1 ขนปุ๋ยลงจากรถยนต์บรรทุกสิบล้อเข้าไปในร้านสอิ้งการเกษตรของจำเลยที่ 1 สอดคล้องกันไม่มีข้อพิรุธ เชื่อว่าเบิกความตามที่รู้เห็นจริง ตามพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 จากนายทศพลแล้วนำไปรับสินค้าปุ๋ยของโจทก์ร่วมไป เมื่อรับฟังประกอบว่าใบสั่งจ่ายสินค้าประทับตราว่าห้ามซื้อขาย ย่อมบ่งชี้ว่าสินค้าตามใบสั่งจ่ายสินค้าไม่สามารถซื้อขายกันได้ ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 รับซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าไว้โดยรู้ว่าผู้ขายนำมาขายโดยไม่ชอบ ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ แต่เนื่องจากใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 เป็นเพียงหลักฐานเพื่อนำไปเบิกสินค้าปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วม การที่จำเลยที่ 1 รับซื้อใบสั่งจ่ายสินค้าโดยคิดตามมูลค่าสินค้าปุ๋ยที่ระบุในใบสั่งจ่ายสินค้าก็มีจุดประสงค์ที่ต้องการนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปรับสินค้าปุ๋ยจากคลังเก็บสินค้าของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์ของตน หาใช่เป็นการรับซื้อเฉพาะใบสั่งจ่ายสินค้าไม่ ทั้งนายทศพลที่นำใบสั่งจ่ายสินค้ามาขายย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 จะนำใบสั่งจ่ายสินค้าไปรับสินค้าปุ๋ยของโจทก์ร่วมไปเป็นประโยชน์ของตน ตามพฤติการณ์แสดงว่านายทศพลและจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกันลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ใบสั่งจ่ายสินค้าเป็นหลักฐานในการเบิกจ่ายสินค้า การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานลักปุ๋ยของโจทก์ร่วมในเวลากลางคืน โดยร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปและใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะพาทรัพท์นั้นไป หาใช่เป็นเพียงรับของโจรใบสั่งจ่ายสินค้าเอกสารหมาย จ.1 ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ และแม้ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองกับศาลฎีกาจะฟังต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อแตกต่างกันในสาระสำคัญและไม่ใช่ข้อที่โจทก์ไม่ประสงค์จะลงโทษเนื่องจากโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม โดยไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอ”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ให้จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share