คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71(1) นั้น เมื่อโจทก์ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 และปี 2534 ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินตามมาตรา 71(1) ทันที การที่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินจะมีหมายเรียกตรวจสอบภาษีมาถึงโจทก์ หรือโจทก์จะได้ยื่นแบบภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 และปี 2534 ต่อเจ้าพนักงานประเมินในภายหลัง ย่อมไม่อาจลบล้างอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวแต่ประการใดถ้อยคำในกฎหมายหาได้บัญญัติหรืออาจแปลความว่า เมื่อปรากฏว่าผู้เสียภาษีอากรได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินเสร็จสิ้น แม้จะเป็นการยื่นภายหลัง 150 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม เจ้าพนักงานประเมินจะต้องใช้อำนาจประเมินด้วยวิธีคำนวณกำไรสุทธิเท่านั้น จะใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 71(1) ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือของยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ไม่ได้เจ้าพนักงานประเมินจะใช้อำนาจดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 แก่เจ้าพนักงานประเมินเมื่อถูกเรียกตรวจสอบ หรือได้ยื่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินหรือทำการประเมินเสร็จสิ้นแล้วดังที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 1016/2100393 และเลขที่ 1016/2100394 หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิเลขที่ กค.0825/3714 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้มีหมายเรียกให้โจทก์ส่งมอบบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีพร้อมด้วยเอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชี สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2533 และรอบระยะบัญชีปี 2534 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2534 เพื่อทำการตรวจสอบ เนื่องจากตรวจพบว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ของรอบระยะเวลาบัญชี 2533 และปี 2534 โจทก์ได้มอบอำนาจให้นายสุรพล อรรถดีกุล ไปพบและให้ถ้อยคำว่า โจทก์ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 และปี 2534 ต่อจำเลยแล้ว เมื่อวันที่22 มิถุนายน 2536 เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ไปตรวจสอบเอกสารหลักฐานทางบัญชีของโจทก์ ผลการตรวจสอบพบว่าในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 โจทก์มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 541,374,326.56 บาท สูงกว่าที่โจทก์แสดงไว้ในแบบ ภ.ง.ด.50 ส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 โจทก์มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายตามที่แสดงในแบบภ.ง.ด.50 เป็นเงิน 64,229,801.50 บาท การที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 และปี 2534 ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 68 และมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรเจ้าพนักงานประเมินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 71(1)ทำการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายเป็นเงินค่าภาษีที่ต้องชำระเพิ่มในแต่ละปีจำนวน 40,225,636 บาทและ 4,319,454 บาท และ 16 ตามลำดับ กับมีหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 จากที่โจทก์แสดงผลขาดทุนจำนวน27,447,757.95 บาท เป็นกำไรสุทธิจำนวน 4,198,947.29 บาท โจทก์อุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การประเมินและการแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อปรากฏว่าผู้เสียภาษีอากรได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินเสร็จสิ้น แม้จะเป็นการยื่นภายหลัง 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม เจ้าพนักงานประเมินจะต้องใช้อำนาจประเมินด้วยวิธีคำนวณกำไรสุทธิเท่านั้น จะใช้อำนาจประเมินตามมาตรา 71(1) ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือของยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ไม่ได้ เจ้าพนักงานประเมินจะใช้อำนาจดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 แก่เจ้าพนักงานประเมินเมื่อถูกเรียกตรวจสอบ หรือได้ยื่นภายหลังจากที่เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจประเมินหรือทำการประเมินเสร็จสิ้นแล้วเห็นว่าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ (1) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีตามบทบัญญัติในส่วนนี้…เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใด ๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า…” และมาตรา 69 ซึ่งอยู่ในส่วนเดียวกันกับมาตรา 71 บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษี… ต่อเจ้าพนักงานประเมินตามแบบ ที่อธิบดีกำหนด…” เมื่อโจทก์ไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533และปี 2534 ภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 69 เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินตามมาตรา 71(1) ทันที การที่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินจะมีหมายเรียกตรวจสอบภาษีมาถึงโจทก์ หรือโจทก์จะได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 และปี 2534 ต่อเจ้าพนักงานประเมินในภายหลังย่อมไม่อาจลบล้างอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวแต่ประการใด ถ้อยคำในกฎหมายหาได้บัญญัติหรืออาจแปลความไปได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ การประเมินและการแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมาย

พิพากษายืน

Share