เรื่อง ยืม ค้ำประกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3847/2562)

เรื่อง ยืม ค้ำประกัน

ใช้เวลาอ่านประมาณ 1 นาที

ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยทั้งสี่เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ตามเอกสารหมาย จ.10 และเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2559 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.17   ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  686 วรรคหนึ่ง  บัญญัติว่า “เมื่อลูกหนี้ผิดนัด  ให้เจ้าหนี้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน  60  วัน  นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด…”  บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดรูปแบบข้อความของหนังสือบอกกล่าวไว้อย่างชัดเจน  เพียงแต่ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อเท็จจริงว่าลูกหนี้ผิดนัดแล้ว  เพื่อผู้ค้ำประกันจะได้ใช้สิทธิเข้าชำระหนี้แทนลูกหนี้เพื่อลดภาระหนี้  การตีความข้อความในหนังสือบอกกล่าวจึงไม่จำต้องยึดถือรูปแบบที่เคร่งครัด  เมื่อปรากฏว่าเอกสารหมาย จ.10 แผ่นที่ 3 ถึงที่ 5   ซึ่งโจทก์ส่งไปยังจำเลยที่ 2  ถึงที่ 4  มีเนื้อความระบุว่าจำเลยที่ 1  ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นมียอดหนี้จำนวนเงินค้างชำระและยังมิได้ชำระหนี้  ขอให้ไปชำระหนี้  ย่อมถือได้ว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวซึ่งมีข้อความที่แจ้งว่าลูกหนี้ผิดชำระหนี้  เข้าลักษณะเป็นหนังสือบอกกล่าวตามความมุ่งหมาย มาตรา  686 วรรคหนึ่ง  แล้ว  อย่างไรก็ตาม  แม้เอกสารดังกล่าวมีข้อความชัดเจนเพียงพอว่าเป็นหนังสือบอกกล่าวไปถึงผู้ค้ำประกันก็ตาม  แต่โจทก์ก็ต้องนำสืบให้รับฟังได้ว่าผู้ค้ำประกันได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน  60  วัน  นับแต่วันที่ลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัด  เมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย  จ.10 แผ่นที่ 3  ถึงที่ 5   ล้วนไม่มีรอยตราไปรษณีย์ประทับเพื่อแสดงว่าจำเลยที่ 2  ถึงที่ 4  ได้รับหนังสือวันใด  อีกทั้งโจทก์ก็มิได้มีหลักฐานใบตอบรับมาแสดงด้วย  จึงฟังไม่ได้ว่า  จำเลยที่ 2  ถึงที่ 4  ได้รับหนังสือบอกกล่าวภายใน  60  วัน  นับแต่วันที่จำเลยที่ 1  ผิดนัด  จำเลยที่ 2  ถึงที่ 4  ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้วตามมาตรา  686 วรรคสอง  โจทก์คงเรียกให้จำเลยที่ 2  ถึงที่ 4  ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่คิดได้เพียง  60  วัน  นับแต่วันที่จำเลยที่ 1  ผิดนัดเท่านั้น  

(ฎีกา 3847/2562) 

Share