แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ประกอบกิจการให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมรถยนต์ผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยซึ่งเป็นธุรกิจการค้าของจำเลย การที่โจทก์เรียกเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ของผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2536 โจทก์ตกลงรับซ่อมรถยนต์ที่จำเลยได้รับประกันภัยไว้ และรถยนต์คู่กรณีที่ถูกรถยนต์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยกระทำละเมิด โดยจำเลยจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวแก่โจทก์ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไข ต่อมาจำเลยนำรถยนต์ที่ได้เอาประกันไว้กับจำเลยและรถยนต์คู่กรณีมาให้โจทก์ทำการซ่อมแซม โจทก์ได้ทำการซ่อมและส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่เจ้าของรถยนต์แล้ว แต่จำเลยยังคงค้างชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์รวม 27 คัน เป็นเงิน 273,400 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 273,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์คิดค่าซ่อมรถยนต์เกินความเป็นจริง ค่าซ่อมแซมดังกล่าวไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งโจทก์ฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ 31 มีนาคม 2541 และวันที่ 15 ถึง 26 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์แต่ละคันตามฟ้องได้ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 273,400 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 พฤษภาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2536 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ซ่อมรถยนต์ของลูกค้าของจำเลยที่ทำประกันวินาศภัยไว้กับจำเลย เมื่อโจทก์ทำการซ่อมรถยนต์เสร็จแล้วส่งมอบคืนแก่ลูกค้าของจำเลยก็จะเริ่มเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ทำการซ่อมแซมแล้วเสร็จหรือเมื่อโจทก์ส่งเอกสารหรือใบแจ้งหนี้ค่าซ่อมแซมให้จำเลยทราบตามที่ได้ตกลงกัน หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยนำรถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยและรถยนต์คู่กรณีที่ถูกรถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้ทำละเมิดมาให้โจทก์ซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก และชำระหนี้บางส่วน โดยจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2542 ถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2543 ปรากฏตามเช็คเอกสารหมาย จ.4 จำเลยยังค้างชำระค่าซ่อมรถยนต์จำนวน 27 คัน เป็นเงิน 273,400 บาท โดยโจทก์ซ่อมแซมและส่งมอบรถยนต์คืนแก่เจ้าของหรือตัวแทนเจ้าของรถยนต์ไปเรียบร้อยแล้ว ตามใบตรวจสอบความเสียหาย ใบเสนอราคาค่าซ่อม ใบรับรถยนต์ที่ซ่อม ภาพถ่ายรถยนต์ที่ซ่อมเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.31 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความเพราะจำเลยให้โจทก์ซ่อมแซมรถยนต์ที่จำเลยได้รับประกันภัยไว้ และรถยนต์คู่กรณีที่ถูกรถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้กระทำละเมิดจึงเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (5) มิใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) เห็นว่า มาตรา 193/34 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม…เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง” ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ประกอบกิจการให้บริการซ่อมแซมรถยนต์ทุกประเภทซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้า ส่วนจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท ได้ว่าจ้างโจทก์ให้ทำการซ่อมรถยนต์ผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลย ซึ่งเป็นธุรกิจการค้าของจำเลย การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ของเหล่าผู้เอาประกันวินาศภัยกับจำเลยตามรายละเอียดเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.31 จึงเป็นการเรียกเอาค่าจ้างหรือค่าแห่งการงานที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ กรณีต้องด้วยข้อยกเว้นไม่อยู่ในกำหนดอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของมาตรา 193/34 (1) แล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) มิใช่ 2 ปีดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สิทธิเรียกร้องเอาค่าจ้างซ่อมรถยนต์ดังกล่าวทุกรายการในเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.31 ล้วนแต่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา นับถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 5 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าเอกสารหมาย จ.4 เป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ