คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6040/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องเรียกให้โจทก์ชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เช่าหมายเลขโทรศัพท์จากจำเลยที่ 1 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวใช้ชื่อว่า ร. ยื่นคำขอเข่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่มีการปลอมแก้ไขชื่อจาก น.เป็น ร. ซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์ ก่อนฟ้องคดีจำเลยที่ 2 สามารถตรวจความถูกต้องของข้อมูลผู้เช่าใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบตามสมควรกลับฟ้องโจทก์ให้รับผิดใช้ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศอันเป็นการประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพื่อการละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 2 เป็นตัวการของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 เปิดใช้บริการจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างประเทศเพื่อหารายได้ผลประโยชน์แบ่งกันระหว่างจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 จำเลยที่ 2 ฟ้องโจทก์ฐานผิดสัญญาเรียกให้ชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ อ้างว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าขอใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 01-647-XXXX กับจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อในการทำสัญญากับบุคคลอื่นที่ใช้เอกสารปลอมประกอบคำขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยมิได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าว และจำเลยที่ 1 เสนอเอกสารปลอมดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ให้ฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 กระทำโดยประมาทรับเอกสารปลอมใช้ประกอบการทำสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้รับหมายเรียกให้มาให้การแก้คดี เสียชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ได้รับความอับอาย ถูกบุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าโจทก์ประกอบอาชีพในทางผิดศีลธรรม ขอเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 15,000 บาท และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาศาลครั้งละ 2,000 บาท รวม 5 ครั้ง เป็นเงิน 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการแต่งทนายความต่อสู้คดีเป็นเงิน 15,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 40,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 เมษายน 2545) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 9 เมษยน 2544 จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นในคดีหมายเลขดำที่ 2986/2544 โดยบรรยายฟ้องว่า นางสาวนงลักษณ์หรือรจนาถ (โจทก์) ใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศแล้วไม่ชำระเงิน ขอให้ชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจำนวนเงิน 84,673.81 บาท โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เช่าโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 01-647-XXXX ที่ใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศดังกล่าว โจทก์ให้การต่อสู้คดี และปรากฏว่าผู้ที่ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวใช้ชื่อว่า นางสาวรจนาจโดยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ที่มีการแก้ไขเอกสารมาประกอบคำขอดังกล่าว สำหรับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมีการแก้ไขชื่อจากนงค์ลักษณ์เป็นรจนาถรูปถ่ายเป็นคนละคนกัน และมีการแก้ไขวันที่ออกบัตรกับวันที่บัตรหมดอายุจากวันที่ 2 มกราคม 2540 และ 1 มกราคม 2546 เป็นวันที่ 12 มกราคม 2540 และ 11 มกราคม 2546 และสำเนาทะเบียนบ้านมีการแก้ไขสถานที่ตั้งจากหมู่ที่ 9 เป็น 19 ต่อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 2 ฟ้องเรียกให้โจทก์ชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 01-647-XXXX จำนวนเงิน 84,673.81 บาท โดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้เช่าหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้วางระเบียบให้สามารถใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านชุมสายโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อมีการใช้บริการดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้เช่าได้โดยไม่คำนึงว่าผู้ใดเป็นผู้ใช้บริการตามสำเนาคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2986/2544 ของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 01-647-XXXX ใช้ชื่อว่านางสาวรจนาถยื่นคำขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่มีการปลอมแก้ไขชื่อจาก นงค์ลักษณ์เป็นรจนาถซึ่งเป็นคนละคนกับโจทก์ และก่อนฟ้องคดีจำเลยที่ 2 สามารถที่จะตรวจความถูกต้องของข้อมูลผู้เช่าใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้กระทำกลับฟ้องโจทก์ให้รับผิดชดใช้ค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ดังนี้ กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อหรือไม่ใยดีต่อผลแห่งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร พฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์เพื่อการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า โจทก์เสียหายเพียงใดจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 20,000 บาท นั้นสูงเกินไป ค่าเสียหายไม่เกิน 7,000 บาท เห็นว่าโจทก์นำสืบว่าโจทก์เสียค่าจ้างทนายความเพราะโจทก์ถูกฟ้องเป็นเงิน 15,000 บาท เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศาล 5 ครั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการต่อสู้คดี ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์รวมเป็นเงิน 20,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นศาลฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาท

Share