คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3049/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทต่อโจทก์ กรรมสิทธิ์จึงตกไปยังโจทก์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยเนื่องจากจำเลยไม่ไถ่ที่ดินและบ้านพิพาทภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยแล้ว โจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้จัดการให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดไว้ มิใช่เป็นการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่เข้าเกณฑ์ที่ผู้ร้องจะขอกันส่วนที่ดินพิพาทในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องกับจำเลยร่วมกัน แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์อยู่ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 104899 และบ้านเลขที่ 205/161 ของโจทก์ซึ่งได้รับซื้อฝากไว้จากจำเลยและพ้นกำหนดไถ่แล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามขอ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2546 ให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายใน 8 วัน นับแต่วันที่ปิดประกาศ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาจำเลยแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทใช้เป็นที่อยู่อาศัยร่วมกัน ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยและผู้ร้องคนละครึ่ง ผู้ร้องจึงไม่ใช่บริวารของจำเลย ขอให้ศาลกันส่วนที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องครึ่งหนึ่ง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นภรรยาจำเลย และไม่ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอกันส่วนเพราะไม่ใช่เป็นกรณีบังคับคดีจากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอกันส่วนที่ดินพิพาท ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ไต่สวนคำร้องขอกันส่วนนั้น เห็นว่า จำเลยได้ขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทต่อโจทก์ กรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านพิพาทจึงตกไปยังโจทก์ผู้ซื้อ ที่ดินและบ้านพิพาทจึงไม่ใช่ทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด และโจทก์ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารเนื่องจากจำเลยไม่ไถ่ที่ดินและบ้านพิพาทภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าวแล้ว โจทก์ขอให้บังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านพิพาท เป็นการใช้สิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดไว้ มิใช่เป็นการบังคับคดีหรือบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่เข้าเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในอันที่ผู้ร้องจะขอกันส่วนที่ดินพิพาทในคดีนี้ได้ ทั้งนี้เพราะการร้องขอกันส่วนได้แก่ การที่บุคคลภายนอกผู้เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ร้องขอให้ให้บังคับเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินนั้น หรือขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาชำระหนี้ของตนก่อนเจ้าหนี้อื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 หรือ 289 แล้วแต่กรณี ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนที่ดินพิพาทตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4832/2536 ระหว่าง นางกาญจนา โจทก์ นายเกียรติก้อง ผู้ร้อง นางสาวสมจิต จำเลย กรณีจึงไม่จำต้องไต่ส่วนคำร้องขอกันส่วนของผู้ร้องดังกล่าวอีก
ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้ไต่สวนคำร้องที่ผู้ร้องแสดงอำนาจพิเศษโดยผู้ร้องอ้างว่า ผู้ร้องกับจำเลยได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต่อมาผู้ร้องกับจำเลยได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงเป็นของผู้ร้องครึ่งหนึ่งนั้น เห็นว่า แม้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ร้องกับจำเลยร่วมกันก็ตาม แต่เมื่อศาลยังไม่ได้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของโจทก์อยู่ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ผู้ร้องจึงเป็นบริวารของจำเลย กรณีจึงไม่จำต้องไต่สวนคำร้องที่แสดงอำนาจพิเศษของผู้ร้องดังกล่าวเช่นกัน และกรณีไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องอีกเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share