แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีอำนาจที่จะรับคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 9 เพราะเป็นศาลที่ผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ซึ่งในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องนั้น ผู้ร้องยังไม่ทราบว่าคดีจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ จนกระทั่งผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยเนื่องจากมีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 (เดิม) แล้วมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ความปรากฏในภายหลังว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แล้วให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น จึงเป็นการสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย แล้ว
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการแก่ผู้คัดค้านต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานสภาอนุญาโตตุลาการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ด้วยเหตุผิดสัญญาซื้อขาย เพราะมีเจตนาไม่ส่งมอบสินค้าให้ครบถ้วนตามสัญญา ผู้ร้องขอให้ผู้คัดค้านส่งมอบเศษเหล็ก ขนาด 30 เซนติเมตร ตามจำนวนที่เหลืออีก 1,164.13 ตัน ภายใน 7 วัน หากไม่ส่งมอบ ให้ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญา แต่ผู้คัดค้านก็ยังคงเพิกเฉย ผู้ร้องขอให้ผู้คัดค้านชำระค่าเสียหาย จำนวน 1,850,819.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ยื่นเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านชี้แจงว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามที่ผู้ร้องกล่าวหา ผู้ร้องต่างหากเป็นฝ่ายผิดสัญญา คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้อง จำนวน 1,813,114.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันยื่นข้อเรียกร้องเสนอข้อพิพาทเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นเห็นสมควรเสนอให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9
ต่อมาได้มีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ทก.50/2558 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อคดีนี้มิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แล้วจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโอนคดีไปศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยมิได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีและให้ผู้ร้องไปฟ้องคดีใหม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านฎีกาว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลชั้นต้นไม่อาจมีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเพราะศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจรับคำร้องขอคดีนี้มาตั้งแต่แรกตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 8 และชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี แล้วให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องขอต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใหม่ต่อไป เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 8 จะบัญญัติว่า “เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเปิดทำการแล้ว ห้ามมิให้ศาลชั้นต้นอื่นรับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไว้พิจารณาพิพากษา” แต่ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 9 บัญญัติว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลหรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้” จะเห็นได้ว่า ศาลชั้นต้นเป็นศาลที่มีอำนาจที่จะรับคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 9 เนื่องจากเป็นศาลที่ผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล ซึ่งในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องยังไม่ทราบว่าคดีจะอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จนกระทั่งผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยเนื่องจากมีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 9 (เดิม) และเมื่อได้มีคำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาที่ ทก.50/2558 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2558 วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษ กรณีจึงเป็นเรื่องที่ความปรากฏในภายหลังว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนสำนวนคดีพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมไปยังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แล้วให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น จึงเป็นการสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ